ฝนแบบนี้...ระวัง "ปอดบวม" ในเด็กเล็ก คิดถึงโรคภัยไข้เจ็บ เราหวั่น "ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009" จนอาจมองข้ามโรคร้ายอื่นๆ ที่มักแพร่ระบาดในช่วงหน้าฝน เมื่อเร็วๆ นี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาเตือนให้เฝ้าระวัง 15 โรคอันตรายในช่วงหน้าฝน ได้แก่ โรคฉี่หนู โรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอด ลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบเจอี โรคมาลาเรีย และโรคเยื่อบุตาอักเสบ หรือโรคตาแดง โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ตับอักเสบ
โดยเฉพาะ ปอดอักเสบ หรือ โรคปอด บวม นั้น พบว่าเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตสูงที่สุด จากข้อมูลการเฝ้าระวัง 15 โรคดังกล่าวตลอดเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 13 ราย โดยเสียชีวิตจากปอด บวมสูงสุดถึง 8 ราย โรคอื่นๆ รวมกันอีก 5 ราย (อุจจาระร่วงเฉียบพลัน 3 ราย ไข้เลือดออกและไข้สมองอักเสบอย่างละ 1 ราย)
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกยังระบุว่า โรคปอดบวมยังคงครองแชมป์มฤตยูร้ายที่คร่าชีวิตเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ สูงถึงปีละกว่า 2 ล้านคนต่อเนื่องมาทุกปี
ซึ่ง นพ.สุชาติ เชิดชูพงศ์ล้ำ กุมารแพทย์ โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ ระบุว่า โรคปอดบวมเป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่มีความรุนแรง บางครั้งอาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้ เนื่องจากจะมีการติดเชื้อที่ปอด เมื่อเนื้อปอดโดนทำลาย ทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดออกซิเจนและเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้น ถ้าเด็กมีอาการแสดงไข้ ไอบ่อย หายใจถี่ เร็วและหอบ หายใจลำบากหรือมีเสียงดังวี้ดๆ หรือหายใจแรงจนซี่โครงบุ๋ม ให้สงสัยว่า เด็กอาจเป็นโรคปอดบวม ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจยืนยันและการรักษาที่ถูกต้อง หากพ่อแม่นิ่งนอนใจ ปล่อยทิ้งไว้นานเด็กอาจมีอาการหอบ หายใจลำบาก มีอาการรุนแรงมากขึ้นและอาจไม่ทันการณ์
กระนั่น พ่อแม่อย่าเพิ่งตื่นตระหนก เพราะสามารถลดการติดเชื้อ ลดการแพร่ระบาดของปอดบวมได้โดยการสร้างสุขอนามัยที่ดี ด้วยการล้างมือเป็นประจำสม่ำเสมอ จะช่วยลดการติดเชื้อที่สัมผัสติดมากับมือได้ สร้างภูมิคุ้มกันที่สมบูรณ์ให้ลูกน้อย ปัจจุบันได้มีการคิดค้นวัคซีนไอพีดี ป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส และกลุ่มโรคไอพีดีได้แล้ว ถือว่าเป็นวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ หากลูกไม่สบายไม่ควรให้ไปโรงเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้ไปแพร่เชื้อสู่เด็กคนอื่นๆ และต้องให้ใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งสามารถลดการแพร่เชื้อได้ถึงร้อยละ 80 รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเล่นคลุกคลีกับเด็กที่ป่วย หรือพาเด็กไปในสถานที่แออัด เช่น โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า สวนสนุก เป็นต้น ขณะที่คุณครูและพี่เลี้ยงที่โรงเรียนต้องมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคตลอดจนแยกภาชนะ แก้วน้ำของเด็กที่ป่วยไม่ให้ใช้ปะปนกับเด็กคนอื่นๆ ก็จะช่วยลดการแพร่กระจายได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
ข้อมูลจาก :
http://www.thaihealth.or.th