การเลี้ยงลูกไม่ให้ผิดเพศ ปัจจุบันพฤติกรรมผิดเพศพบได้ไม่น้อย และเป็นที่หวาดวิตกของพ่อแม่ทั่วไปว่าลูกอาจมีพฤติกรรมผิดเพศ เพราะจากการพบเห็นที่มีหนาตาขึ้น อีกทั้งบุคคลเหล่านี้แต่ก่อนเคยปิดบังพฤติกรรมเบี่ยงเบนไว้ แต่เดี๋ยวนี้กล้าเปิดเผยมากขึ้น บางคนก็เป็นคนเด่นดังในสังคม มีชื่อเสียงและมีความสามารถพิเศษในบางด้าน พ่อแม่จึงวิตกกังวลว่าบุคคลเหล่านี้จะมาทำเป้นตัวอย่างหรือชักจูงให้ลูกมีพฤติกรรมผิดเพศเพิ่มขึ้นใช่หรือไม่ หรือมีสาเหตุใดกันแน่ พฤติกรรมผิดเพศจึงได้เกิดขึ้น เวลาที่เกิดขึ้นแล้วก็สร้างความลำบากต่อผู้ที่เป็นและสร้างความปวดร้าวใจให้พ่อแม่มากทีเดียว
ความเป็นหญิงหรือชาย
ก่อนจะพูดถึงความเป็นเพศหญิงและเพศชายนั้นพัฒนาขึ้นมาในคนเราได้อย่างไร และเราจะเลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้ผิดเพศ คงต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นเพศหญิงเพศชายว่าเป็นอย่างไรเสียก่อน ความเป็นหญิงหรือชายไม่ใช่ประกอบไปด้วยลักษณะการแต่งกาย การพูด หรือพฤติกรรมที่แสดงออกเท่านั้น ยังประกอบไปด้วยแก่นแท้ของความรู้สึกที่อยู่ภายในของคนๆ นั้น อีกด้วยความเป็นหญิงชายไม่ได้อยู่เพียงอวัยวะเพศภายนอกที่มองเห็นได้ตั้งแต่แรกเกิดอย่างเดียว
ความเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย มีองค์ประกอบอยู่ 3 ส่วนคือ
1. ความสำนึกว่าตนเองเป็นหญิงหรือชาย เป็นความรู้สึกนึกคิดที่อยู่ในใจของคนๆนั้นว่าเขาเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย เป็นความสำนึกหรือการมองตนเองว่าเป็นเพศใด ความรู้สึกนี้จะค่อยเกิดขึ้น หรือพัฒนาเลยมาตั้งแต่วัยทารก และจะต้องเกิดความรู้สึกที่ชัดเจนแน่นอนภายในอายุ 2-3 ปี โดยจะสังเกตได้ว่าเด็กอายุก่อน 2 ปี เวลาถูกผู้ใหญ่ถามเล่นๆ ว่า “หนูเป็นผู้ชายหรือเป็นผู้หญิง ” เด็กมักจะตอบตามคำหลังว่า “ผู้หญิง” เพราะเด็กยังไม่รู้เพศของตัวเองอย่างแน่ชัด แต่เมื่อเด็กอายุเลย 2 ปี ถูกถามแบบนี้เขาจะตอบซ้ำๆ ได้ตามเพศที่แท้จริงของตนว่าเป็นเด็กหญิงหรือเด็กชาย คำตอบจะไม่เปลี่ยนตามคำท้ายของคำถามแล้ว
2. พฤติกรรมประจำเพศ วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดบทบาทหรือพฤติกรรมประจำเพศ โดยวัฒนธรรมส่วนใหญ่จะแบ่งบทบาทหญิงชายออกจากกัน เช่น เด็กหญิงถูกกำหนดว่าต้องพูดจาแบบหนึ่งลงท้ายด้วยคำว่า คะ ขา น้ำเสียงอ่อนโยน ส่วนเด็กชายให้พูดลงท้ายด้วยคำว่า ครับ เสียงเข้มแข็งกว่าเด็กหญิง และใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า ผม และยังมีพฤติกรรมอีกมากที่แยกความแตกต่างระหว่างหญิงและชายชัดเจน เช่น การแต่งกาย การใช้เครื่องประดับ กิจกรรมในบ้าน การเล่นบทบาทต่างๆ เหล่านี้ของหญิงและชายจะแบ่งแยกเสร็จเรียบร้อยแล้วในขวบปีที่ 5
3. การจะเลือกเพศของคู่ครอง ตามปกติธรรมดามนุษย์จะเลือกเพศตรงข้ามเป็นคู่ครองของตนเพื่อสร้างครอบครัวสืบวงศ์ตระกูลต่อๆ ไป แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ทำอย่างนี้ แต่กลับไปชอบและสนใจเพศเดียวกันและต้องการร่วมเพศกับเพศเดียวกัน ที่เรียกว่ารักร่วมเพศ (homosexuality) นอกจากนั้นยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ชอบ สนใจและต้องการร่วมเพศกับทั้งเพศตรงข้ามและเพศเดียวกัน ซึ่งเรียกว่ารักร่วมสองเพศ (bisexuality) ความต้องการเหล่านี้จะแสดงออกเมื่อใกล้วัยรุ่น ถ้าพบวัยรุ่นมีพฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นเพียงครั้งคราว คุณพ่อคุณแม่อาจจะยังไม่ต้องตกใจมากเกินกว่าเหตุ ถ้าวัยรุ่นนั้นได้พัฒนามาดีโดยตลอดจากวัยเด็ก และวัยรุ่นนั้นกำลังหาประสบการณ์ทางเพศก็เป็นได้
พัฒนาการเรื่องเพศ
การที่เด็กเกิดมาแล้วจะพัฒนาไปเป็นหญิงหรือชายขึ้นกับปัจจัยต่างๆ หลายอย่างมาก แต่พอจะสรุปย่อๆ ได้ว่าปัจจัยใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องคือ
1. ปัจจัยทางชีวภาพ หมายถึง สิ่งที่ติดตัวเด็กมาตามธรรมชาติหรือสภาพทางกายที่เกิดมา เช่น เด็กบางคนขณะอยู่ในครรภ์มารดานั้น เกิดมีภาวะผิดปกติของระดับฮอร์โมนที่ควบคุมความเป็นหญิงหรือชาย เด็กคนนั้นเกิดมาก็จะมีความผิดปกติทางเพศ เช่น มีอวัยวะเพศก้ำกึ่งระหว่างหญิงชาย หรือมีพฤติกรรมของเพศตรงข้ามด้วย เช่น เป็นหญิง แต่มีลักษณะท่าทางพฤติกรรมของเด็กชายที่มักเรียกกันว่าทอมบอย ทั้งนี้จากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศที่ได้รับระหว่างอยู่ในท้องแม่
2. ปัจจัยทางจิตใจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภาวะแวดล้อมหลังคลอดแล้วมีความสำคัญและมีอิทธิพลอย่างมากต่อเด็กที่จะพัฒนาเพศของตนไปเป็นหญิงหรือชาย ปัจจัยเหล่านี้ประกอบด้วย
- การอบรมเลี้ยงดู การอลบรมเลี้ยงดูจะเป็นปัจจัยที่กำหนดเพศ (sex designation) ของเด็ก ตามปกติแล้วพ่อแม่ และผู้ใหญ่จะปฏิบัติต่อเด็กหญิงและเด็กชายต่างกันตั้งแต่แรกเกิด เช่น คำพูดที่พูดด้วยความอ่อนโยน การจับต้องตัวเด็ก เสื้อผ้าของใช้ต่างๆ อาจมีลักษณะต่างกัน สีก็อาจจะใช้ต่างกัน เช่น สีชมพูสำหรับเด็กหญิง สีฟ้าสำหรับเด็กชาย ของเล่นที่ซื้อให้ก็ต่างกัน เช่น ตุ๊กตาสำหรับเด็กหญิง ปืน รถ หุ่นยนต์สำหรับเด็กชาย เป็นต้น นอกจากนั้นการอบรมด้วยคำพูด ก็มีส่วนในการแยกเพศให้เด็ก เช่น พ่อแม่จะพูดกับเด็กว่า “เป็นเด็กผู้หญิงต้องเรียบร้อยหน่อยจ๊ะลูก” หรือ “ผู้ชายเขาไม่พูด ลากเสียงแบบนี้นะ ต้องพูดจาให้เข้มแข็งซิลูก” การชมเชยของผู้ใหญ่ก็มีส่วนกล่อมเกลาเด็กให้มีพฤติกรรมตรงกับเพศของตนได้ เช่น “ลูกเก่งมากที่เป็นสุภาพบุรุษแบบนี้”
- การเป็นแบบอย่างที่ดีของพ่อแม่ ทารกที่เกิดขึ้นนั้นไร้เดียงสา ต้องมาเรียนรู้ในโลกเกือบทุกอย่าง บทบาททางเพศก็เช่นเดียวกัน เด็กต้องมาเรียนรู้ภายหลังจามที่สังคมกำหนดว่าเพศใดมีบทบาทอย่างไร โดยการเอาอย่างผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด โดยเฉพาะพ่อแม่ซึ่งเป็นบุคคลที่เด็กรักและนับถือมาก พ่อแม่จึงเป็นแบบอย่างให้เด็กได้ทำตามโดยเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก ตามธรรมชาติเด็กหญิงจะเอาแบบอย่างแม่ เด็กชายจะเอาแบบอย่างพ่อ พ่อแม่คู่ไหนที่มีปัญหาอาจจะทำให้ลูกมีปัญหาตามไปด้วย เช่น ก่อกับแม่มีความสัมพันธ์ไม่ดี ไม่อบอุ่น พ่อหายไปจากบ้านเสมอ แม่จะโกรธและไม่พอใจพ่อมากๆ ดังนั้นลูกชายนอกจากจะไม่มีโอกาสใกล้ชิดเอาแบบอย่างพ่อแล้ว โดยแม่อาจพูดจาติเตียนหรือพูดถึงพ่อในแง่ลบต่างๆ ให้ลูกฟัง ลูกชายก็เลยไม่ต้องการเอาแบบอย่างพ่อที่ไม่ดีแบบนั้น จากหลายการศึกษาพบว่าลูกชายที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อจะไม่เติบโตมาเป็นรักร่วมเพศ
- สภาพแวดล้อมที่เด็กเติบโต เด็กผู้หญิงบางคนไปเติบโตท่ามกลางเด็กผู้ชายทั้งหมด เด็กผู้ชายบางคนไปเติบโตในสถานบริการทางเพศเพราะแม่เป็นแม่เล้า เด็กผู้ชายบางคนมีพี่น้อง ญาติ เด็ก เป็นผู้หญิงหมดอาจทำให้ท่าทีพฤติกรรมคล้ายผู้หญิงบ้าง เช่น ชอบเล่นตุ๊กตา เล่นขายของ วี๊ดว้าย กลัวเสียงดัง แต่เด็กผู้ชายคนนี้อาจมีจิตใจเป็นชายได้ ปัจจุบันยังไม่แน่ใจว่าสภาพแวดล้อมเพียงปัจจัยเดียวสามารถทำให้เกิดพฤติกรรมผิดเพศได้หรือไม่
เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้ผิดเพศ
เมื่อทราบถึงความแตกต่างของหญิง ชาย ตลอดจนทราบถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการเรื่องเพศแล้วพอจะสรุปได้ว่าจะป้องกันได้อย่างไรที่จะให้ลูกเราเติบโตมาโดยไม่มีพฤติกรรมผิดเพศดังนี้
1. การฝากครรภ์ที่ถูกต้องเป็นการป้องกันไม่ให้แม่ได้รับฮอร์โมนเพศจากภายนอกอย่างไม่เหมาะสม
2. ถ้าเด็กเกิดมามีอวัยวะเพศก้ำกึ่งเป็น 2 นัย ควรรีบปรึกษาแพทย์ให้แน่ชัดว่าเด็กควรถูกเลี้ยงให้เป็นเด็กหญิงหรือชาย จึงจะเหมาะสมที่สุดกับธรรมชาติที่ได้มา การตัดสินใจนี้ควรให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ และควรก่อนที่เด็กจะมีอายุ 1 ปี เพื่อการเลี้ยงดูจะได้ไม่สับสนเด็กเองก็จะได้ไม่รู้สึกสับสน
3. เลี้ยงเด็กตามเพศที่เด็กเกิดมา คือ เด็กหญิงควรเลี้ยงแบบเด็กหญิง เด็กชายควรเลี้ยงแบบเด็กชาย เคยพบบ่อยครั้งว่าพ่อแม่มีลูกชายหลายคนแล้วอยากไดลูกสาวมาก จึงจับลูกชายคนสุดท้องแต่งตัวเป็นหญิง เลี้ยงแบบเด็กหญิง
4. พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก ให้ลูกรู้สึกภาคภูมิใจในพ่อแม่ของตน เด็กจะได้เอาอย่างบทบาทประจำเพศของตนได้ ไม่รู้สึกขัดแย้งหรือต่อต้านเพศของตนเอง
5. พ่อ แม่ ลูก ควรมีความสัมพันธ์ที่ดีและอบอุ่น เด็กจะได้มีโอกาสใกล้ชิด มีเวลาที่พ่อ แม่ ลูกจะใช้ชีวิตร่วมกัน เรียนรู้จากกัน ซึ่งก็รวมถึงการเรียนรู้บทบาทประจำเพศตนด้วย เด็กสามารถไต่ถามสิ่งที่ตนอยากรู้ หาคำอธิบายหรือเหตุผลในเรื่องที่ตนไม่เข้าใจ มีปัญหาพ่อแม่ก็สามารถช่วยแก้ไขแต่เนิ่นๆ ให้ถูกต้องได้
6. ถ้าเห็นว่าลูกมีหรืออาจมีพฤติกรรมผิดเพศ ควรรับแก้ไข ถ้าแก้ไขเองไม่ได้ก็ควรพาเด็กมาพบแพทย์ หรือปรึกษาผู้ที่สามารถให้คำแนะนำที่ถูกต้องได้ เช่น จิตแพทย์เด็ก นักจิตวิทยา กุมารแพทย์ เป็นต้น พฤติกรรมตัวอย่างที่พบ เช่น เด็กชายอายุ 4 ปี ชอบขโมยกางเกงในพี่สาวไปใส่ บางทีก็เอากางเกงในผู้หญิงไปกอดนอนและดมหรือเด็กชายบางคนเกิดมีท่าทีกรีดกรายกระตุ้งกระติ้งมากผิดปกติ เป็นต้น
สรุปว่า พฤติกรรมผิดเพศส่วนใหญ่นั้น สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ด้วยการเลี้ยงดูที่เหมาะสม มีสภาพครอบครัวและสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมพัฒนาการทางเพศของเด็ก ถ้าไม่ป้องกันแต่ปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นแล้วจะแก้ไขปัญหาได้ยาก เนื่องจากความรู้สึกของคนเราที่เป็นหญิงหรือชายเกิดขึ้นแล้วจะเปลี่ยนแปลงได้ยากหลังอายุเพียง 2-3 ปี และเด็กจะเรียนรู้บทบาทประจำเพศแล้วจะเปลี่ยนแปลงได้ยากหลังอายุ 5 ปี ฉะนั้นช่วงอายุ5 ปีแรก ของชีวิเตจึงมีความสำคัญมากต่อการพัฒนาเรื่องเพสให้ถูกต้อง
เอกสารอ้างอิง "การเลี้ยงลูกไม่ให้ผิดเพศ"
นงพงา ลิ้มสุวรรณ (2542). การเลี้ยงลูกไม่ให้ผิดเพศ. เลี้ยงลูกถูกวิธี ชีวีเป็นสุข พิมพ์ครั้งที่ 9, กรุงเทพ: พรินท์ติ้งเพรส.
ข้อมูลจาก :
http://www.dmh.moph.go.th