จัดระเบียบการดูทีวี ทุกวันนี้ในหลายประเทศ รณรงค์กวดขันพฤติกรรมการดูโทรทัศน์ของเด็กๆ มากขึ้น อันเนื่องมาจากการเสพติดทีวีของพวกเขานั่นเอง
การดูโทรทัศน์ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่ดูมากไปก็ไม่ดี ด้วยจะกลายเป็นคนเสพติดทีวีโดยไม่รู้ตัว อีกทั้งผลกระทบตามมามากมาย
วันนี้เรามาจัดระเบียบการดูทีวีกันดีกว่า "อักษรา" แห่งคอลัมน์ "ไม่ยากถ้าอยากเก่ง" นิตยสาร "เล่มโปรด" ฉบับเม.ย. แนะนำไว้ดังนี้
• เลือกดูแต่สิ่งที่มีสาระ
น้องๆ ยังดูรายการเพลงหรือการ์ตูนที่ชอบได้เหมือนเดิม เพียงแต่ลดปริมาณมาดูรายการสาระดีๆ เช่น รายการสอนภาษาอังกฤษ สอนทำสิ่งประดิษฐ์สนุกๆ รายการสารคดีชีวิตสัตว์ การทดลองทางวิทยาศาสตร์ หรือแบกเป้เที่ยวทั่วโลก ซึ่งจะทำให้เรามีกึ๋นเวลาอยู่ในวงสนทนากับเพื่อนๆ
• จดบันทึกรายการที่อยากดู
อย่า เปิดทีวีเพียงเพราะอยากรู้ว่าวันนี้มีรายการอะไรบ้าง ถ้าทำแบบนี้ก็จะไม่พ้นวงจรดูเรื่อยเปื่อย กว่าจะรู้ตัวก็หมดไปแล้ว 1 วัน ให้จดเฉพาะรายการที่เราสนใจหรือดูเป็นประจำ ท่องให้ขึ้นใจว่าเราจะไม่ดูรายการอื่นที่ไม่ได้อยู่ในบันทึกเป็นอันขาด อาการติดทีวีทุเลาแน่
• วันปิดทีวีแห่งครอบครัว
กำหนด ให้วันใดวันหนึ่งในสัปดาห์เป็น "วันปิดทีวี" ลุกจากหน้าจอแล้วออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ยังมีกีฬาสุดมัน กิจกรรมคลายเครียดอีกมาก ที่น้องๆ สามารถทำร่วมกับครอบครัวหรือเพื่อนได้ รับรองสนุกจนลืมคิดถึงทีวีเลย
ชาวอเมริกันติดทีวีมาก แถมยังกินอาหารฟาสต์ฟู้ดไปด้วยดูทีวีไปด้วย น้ำหนักตัวจึงพุ่งพรวด นิตยสารเพื่อสุขภาพ "แอดบัสเตอร์ และกลุ่มองค์กรอิสระกว่าร้อยองค์กร จึงพร้อมใจกันจัดกิจกรรม "สัปดาห์ปิดทีวี" ในปีค.ศ.1994 ซึ่งในปีนี้คือวันที่ 20-26 เม.ย.และวันที่ 20-26 ก.ย.
• ไม่ดูทีวีไป กินข้าวไป
เวลา กินข้าว เป็นเวลาที่สมาชิกในครอบครัวมักจะอยู่กันพร้อมหน้า หากเรามัวแต่สนใจดูทีวี โอกาสดีๆ ที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันก็จะหมดลงไป แถมเรายังอาจกินมากโดยไม่รู้ตัว
มีรายงานของประเทศแคนาดาระบุว่า ผู้ที่ดูทีวีเกิน 21 ชั่วโมงต่อหนึ่งสัปดาห์ มีโอกาสอ้วนกว่าคนที่ดูทีวีไม่เกิน 5 ชั่วโมง ต่อหนึ่งสัปดาห์ ถึง 2 เท่า
ข้อมูลจาก :
www.khaosod.co.th