อาการโคลิคในเด็ก (colic)
อาการโคลิคในเด็ก (colic) หมายถึง การที่เด็กร้องกวนเป็นเวลาเย็นๆ หรือดึก โดยส่วนใหญ่เด็กมักร้องในช่วงเวลา 6 โมงเย็นถึง 4 ทุ่ม โดยที่เวลาอื่นเด็กปกติดี เล่นได้ กินได้ บางรายอาจร้องหลังรับประทานนม จึงแตกต่างจากการร้องเพราะหิว ซึ่งมักจะร้องก่อนมื้อนม บางรายการร้องจะเกิดหลังมื้ออาหารครึ่งชั่วโมงหรือช้ากว่านี้ อาการโคลิคเกิดขึ้นในเด็กอายุ 2-4 สัปดาห์ และหายไปเมื่ออายุได้ 3 เดือน เด็กแต่ละคนอาจมีอาการมากน้อยแตกต่างกัน พบได้ร้อยละ 20 ของเด็กทั้งชายและหญิง พบได้ทั้งลูกคนโตและคนหลังๆ โดยทั่วไปจะนึกถึงอาการโคลิค เมื่อเด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน ร้องกวนมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน มากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์
สาเหตุของโรค
1. สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด
2. ในอดีตเชื่อว่าเกิดจากระบบทางเดินอาหารของเด็กมีก๊าซมากเกินไป แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาวิจัยที่สนับสนุนเท่าที่ควร
3. ปัจจุบันเชื่อว่าเกิดจากความเครียดในการปรับตัวของเด็ก และพัฒนาการของสมองที่ยังไม่มากพอ ลักษณะเป็นการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นภายนอกที่มีความไวมากกว่าปกติ และเมื่อเริ่มร้องแล้ว เด็กไม่สามารถหยุดได้ง่ายๆ เนื่องจากพัฒนาการของสมองยังไม่มากพอ
4. บางคนสันนิษฐานว่าเป็นความพยายามของเด็ก ที่ควบคุมกำลังฝึกการทำงานของปอด และการขยับกล้ามเนื้อต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งเกิดขึ้นอย่างอัตโนมัติ
อาการของโรค
อาการสำคัญคือเด็กร้องต่อเนื่องกันยาวนานกว่าปกติ อาจเกิดขึ้นตอนใดก็ได้ แต่พบว่ามักเกิดขึ้นในตอนเย็นเป็นส่วนใหญ่ อาการคล้ายเจ็บปวด หรืออาการปวดท้องแบบเจ็บแปลบ แต่จริงๆ แล้วเด็กไม่ได้เจ็บปวดแต่อย่างใด เด็กอาจดิ้น งอแง ผายลม ท้องจะอืดโดยมีลมเต็มท้อง เวลาร้องหน้าจะแดง ขาทั้งสองข้างงอขึ้นและหดเกร็ง เด็กไม่ยอมกินนม อาจมีอาการเกร็งมือ และเท้าบ้างเล็กน้อย และมักพบปัญหาในการนอนร่วมด้วย
ถือว่าอาการโคลิคในเด็กไม่ใช่อาการที่ร้ายแรงแต่อย่างใด จากการศึกษาวิจัย พบว่าเด็กสามารถมีพัฒนาที่เป็นปกติ กินอาหารได้ตามปกติ และน้ำหนักเพิ่มได้ตามปกติแม้ว่าจะมีอาการโคลิคก็ตาม
วิธีแก้ไขและแนวทางปฏิบัติ
1. พยายามปลอบโยนเด็กให้สบายใจ เช่น เปิดเพลง, อุ้มกล่อม, ใส่รถเข็นเดินเที่ยวก่อนเวลาที่จะร้องงอแง ปรับอารมณ์ 2-3 วัน จนเด็กเลิกงอแง ที่สำคัญพ่อแม่ต้องจัดสิ่งแวดล้อมให้สงบไม่วุ่นวาย
2. เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันได้มาก วิธีที่ได้ผลกับคนหนึ่ง อาจใช้ไม่ได้ผลกับคนอื่น จึงควรลองใช้หลากหลายวิธีจนกว่าจะได้ผล
3.ไม่ควรใช้ยาใดๆ เพราะนอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังทำให้ระบบย่อยของเด็กเสียไปด้วย ยาที่พ่อแม่มักได้รับคำแนะนำให้ใช้ ได้แก่ colic drops, gripe water หรือ dimeticone (Infacol)
4. ควรไล่ลมหลังดูดนมทุกครั้ง หากให้ลูกดื่มนมจากขวด อาจลองพิจารณาเปลี่ยนสูตรของนมเป็นชนิดอื่นบ้าง เช่น soya-based formula
5. บางรายอาจเกิดจากอาหาร ซึ่งถ้าสงสัยว่าเป็นสาเหตุให้งดเว้นเสีย
6. ถ้าสงสัยว่าเกิดจาก lactose intolerance ให้หยุดนมวัวทันที และปรึกษาแพทย์
7. พ่อแม่ควรดูลักษณะการร้องของลูกให้แน่ชัด บางครั้งอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้
ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ข้อมูลจาก :
http://www.bangkokhealth.com