เด็กนอนกรน (Snoring Child)
ลูกนอนกรน หายใจเสียงดังเวลานอน มีอันตรายหรือไม่ ?
ภาวะการนอนกรนเป็นการหายใจเสียงดัง ซึ่งเกิดขึ้นในขณะหลับ พบได้ในทุกเพศทุกวัย จากการศึกษาพบว่าเด็กประมาณ 3-12 เปอร์เซ็นต์นอนกรน การนอนกรนพบบ่อยเป็นพิเศษในช่วงอายุก่อนวัยเรียน (Preschool) หรือช่วงระดับชั้นอนุบาล เนื่องจากขนาดของต่อมอดีนอยด์ และทอนซิล ที่มักโตเมื่อเทียบกับขนาดของทางเดินหายใจเด็ก
การนอนกรนมีอันตรายหรือไม่ ?
การนอนกรนอาจเป็นอันตรายได้ หากการนอนกรนนั้นเกิดร่วมกับภาวะการหายใจที่ลดลง หรือหยุดหายใจในขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea Syndrome) ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำลง ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอเพียง เด็กเมื่อนอนแล้วหายใจไม่ออก เนื่องจากทางเดินหายใจอุดตัน ก็จะนอนกระสับกระส่าย ตื่นนอนบ่อย ทำให้การนอนหลับตอนกลางคืนไม่มีคุณภาพ, นอนหลับได้ไม่เพียงพอ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และการเรียนรู้ และพัฒนาการของเด็ก
Obstructive Sleep Apnea Syndrome (OSAS)
Obstructive Sleep Apnea Syndrome (OSAS) คือ ความผิดปกติของการหายใจที่เกิดขึ้นในขณะหลับ เกิดจากทางเดินหายใจที่มีการอุดกั้นบางส่วน หรืออุดกั้นอย่างสมบูรณ์ ซึ่งมักเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ ขณะหลับ ทำให้เกิดการรบกวนต่อระบบการระบายลมหายใจ และระบบการนอนหลับ
อัตราการเกิดพบประมาณ 2% ของประชากร พบในเด็กผู้หญิงพอ ๆ กับเด็กผู้ชาย จะเห็นได้ว่าการนอนกรนแบบไม่เป็นอันตรายพบได้บ่อยกว่ามาก อย่างไรก็ตามแพทย์มีความจำเป็นจะต้องตรวจวินิจฉัยเด็กที่นอนกรนแบบมีอันตราย หรือมีความผิดปกติของการหายใจ และให้การรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้เกิดมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
เด็กที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการนอนกรนผิดปกติ (OSAS) ได้แก่
มีต่อมทอนซิล และ/หรือ ต่อมอดีนอยด์โต
- เด็กที่อ้วนมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน
- มีความผิดปกติของโครงสร้างของระบบทางเดินหายใจ เช่น มีกรามเล็ก, มีขนาดทางเดินหายใจแคบกว่าปกติ
- มีความผิดปกติของสมองที่ทำให้การคุมการทำงานของกล้ามเนื้อระบบทางเดินหายใจผิดปกติ เช่น Cerebral Palsy
- เด็กที่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากสาเหตุต่าง ๆ
- เด็กที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม
- เด็กที่มีปัญหาโรคปอดเรื้อรัง
อาการที่น่าสงสัยว่าลูกมีปัญหานอนกรนแบบมีอันตราย
- มีอาการหายใจติดขัด, หายใจลำบาก หรือหยุดหายใจเป็นพัก ๆ ร่วมกับการนอนกรน
- นอนกระสับกระส่าย, เหงื่อออกมากเวลานอน, ตื่นนอนกลางดึกบ่อย ๆ
- ปัสสาวะรดที่นอนทั้งที่เคยควบคุมได้มาก่อน
- อ้าปากหายใจ
- มีปัญหาด้านการเรียน, เรียนได้ไม่ดี
- มีปัญหาทางพฤติกรรม, สมาธิสั้น, อยู่นิ่งเฉยไม่ได้
- ระดับสติปัญญาต่ำกว่าปกติ
- ง่วงเหงาหาวนอนมากผิดปกติในเวลากลางวัน
- มีความดันโลหิตสูง
การวินิจฉัยทำอย่างไร
ในปัจจุบันมีการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาภาวะการนอนกรนที่ผิดปกติทำได้ โดยการทดสอบการนอนหลับ (Pneumogram) การทดสอบการนอนหลับที่เป็นมาตรฐานเป็นการทดสอบข้ามคืนใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง เด็กจะมานอนค้างคืนที่ห้องทำการทดสอบที่จัดเตรียมไว้ ผู้ปกครองสามารถมาอยู่เฝ้าได้
การรักษา หากพบว่าเด็กมีภาวะการนอนกรนที่เป็นอันตรายก็จำเป็นต้องมีการรักษา การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุ
1. การตัดต่อม Adenoid และ Tonsils ในรายที่มีต่อม Adenoid และ/หรือ Tonsils โต การตัดต่อมออกพบว่าช่วยรักษาการอุดตันของทางเดินหายใจในขณะหลับได้ถึง 75-100% จึงถือเป็นการรักษาหลังในผู้ป่วยกลุ่มนี้
2. ในผู้ป่วยซึ่งมีการอุดตันของทางเดินหายใจขณะหลับเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ทางเดินหายใจอุดตันตอนหายใจเข้า หรือในผู้ป่วยที่ตัดต่อมทอนซิลแล้วยังมีปัญหา หรือในรายที่มีปัญหาสุขภาพทางด้านอื่น ไม่สามารถผ่าตัดได้จำเป็นจะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อป้องกันการอุดตันของทางเดินหายใจในขณะหลับ (CPAP หรือ BiPAP)
3. การรักษาโดยการผ่าตัด เพื่อแก้ความผิดปกติของโครงสร้างของทางเดินหายใจส่วนบนที่แคบกว่าปกติเป็นการทำ Craniofacial Surgery, Uvulopharyngopalatoplasty.
4. การรักษาอาการอื่น ๆ ที่อาจเป็นปัจจัยร่วมให้เกิดปัญหาการหายใจที่ผิดปกติขณะหลับเป็นโรคภูมิแพ้, การควบคุมน้ำหนัก
ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะนอนกรนชนิดที่มีการอุดกั้นของทางเดินหายใจร่วมด้วยในขณะหลับ ทำให้มีออกซิเจนในเลือดลดลง ดังที่กล่าวมาแล้ว หากมิได้รับการรักษา หรือแก้ไขอย่างทันท่วงทีจะทำให้เด็กมีสติปัญญาต่ำ, ระดับการเรียนรู้ต่ำลง, มีสมาธิสั้น, Active มากไม่อยู่นิ่ง, ง่วงเหงาหาวนอนในเวลากลางวัน, ปัสสาวะรดที่นอน, ความดันโลหิตสูง, ความดันเลือดในปอดสูง ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจทำงานล้มเหลวได้
พญ.ภัสสรา เลียงธนสาร
กุมารแพทย์
ข้อมูลจาก :
http://www.bangkokhealth.com