ภาวะเครียดในเด็ก
ความเครียด หมายถึง การที่บุคคลรับรู้ว่าสัมพันธภาพระหว่างตนเองกับสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากสิ่งเร้าเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ทำให้ตนเองรู้สึกไปในทางลบ หรือหมายถึงความไม่สมดุลระหว่างสิ่งเร้ากับกลไกการปรับตัวของบุคคล
การเผชิญความเครียด คือการที่บุคคลแสดงออกทางพฤติกรรมในการจัดการ ลดหรือขจัดปัจจัยหรือสิ่งเร้าอันเป็นสาเหตุของความเครียด ซึ่งในเด็กจะมีวิธีการเผชิญความเครียดที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับการเจริญเติบโตและพัฒนาการด้านร่างกายสติปัญญา และประสบการณ์ของแต่ละบุคคล
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดในเด็กและวัยรุ่นโดยทั่วไปก็จะแบ่งออกเป็นสามประเภทใหญ่ๆ คือ
1. การสูญเสียการควบคุมตนเอง
2. การบาดเจ็บและการเจ็บปวดของร่างกาย
3. ความกังวลจากการแยกจาก ครอบครัวหรือสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย ซึ่งในเด็กจะมีสามระยะด้วยกันคือ ระยะต่อต้าน ระยะหมดหวัง และระยะปฏิเสธ
วัยทารก แรกเกิดถึง 1 ปี
ช่วงนี้เด็กจะพัฒนาความไว้วางใจมาก โดยเฉพาะเด็กวัย 6 เดือนขึ้นไปซึ่งจะสามารถจำใบหน้าผู้ที่ใกล้ชิดได้และเริ่มกลัวคนแปลกหน้า เด็กจะยิ้มเมื่อพอใจ และร้องไห้เมื่อไม่พอใจ การเปลี่ยนบุคคลที่เลี้ยงดูไม่ซ้ำหน้าจะทำให้เด็กเกิดความระแวงง่ายในอนาคต การบาดเจ็บและความเจ็บปวดของร่างกาย ทารกจะแสดงออกโดยการคิ้วขมวด หน้าผากย่น ปิดตาแน่น ริมฝีปากขยายกว้าง กำมือ เด็กจะแสดงออกถึงความกังวลจากการแยกจากโดยการร้องไห้เสียงดัง ซึ่งจะพบในเด็กที่อายุเกิน 6 เดือนขึ้นไป
เด็กวัยหัดเดิน 1-3 ปี
เป็นวัยที่พัฒนาความเป็นตัวของตัวเองอย่างมากในทุกๆด้าน พฤติกรรมการตอบสนองต่อการสูญเสียการควบคุมตนเอง ระยะแรกเด็กจะแสดงออกโดยการปฏิเสธ ไม่ให้ความร่วมมือ และอาละวาด ต่อมาเข้าสู่ระยะหมดหวัง เด็กจะร้องไห้น้อยลงและให้ความร่วมมือในกิจกรรมบ้าง ซึมและมีพฤติกรรมถดถอย หลังจากนั้นจะเข้าสู่ระยะปฏิเสธจะร้องไห้เมื่อเห็นผู้เลี้ยงดู เมื่อร่างกายได้รับบาดเจ็บ เด็กจะแสดงออกโดยการร้องไห้เสียงดัง กำมือแน่น กัดฟัน กัดริมฝีปาก เปิกตากว้าง อาละวาดกัดเตะ ถีบ ทุบตี หรือวิ่งหนี เด็กวัยนี้จะร้องไห้หาพ่อแม่เสียงดัง และจะมีพฤติกรรมถดถอยเมื่อรู้ว่าตัวเองไม่ได้รับการตอบสนองตามสิ่งที่ต้องการ
วัยก่อนเรียน อายุ 3-6 ปี
เป็นวัยที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง มีความคิดริเริ่ม และจินตนาการสูง เข้าใจอะไรที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อมีการบาดเจ็บของร่างกายและความเจ็บปวด เด็กจะแสดงออกโดยการผลักไส หรือหนีไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัย
บางครั้งเด็กจะตอบสนองความเครียดโดยการทานอาหารน้อยลง ซึม นอนหลับยาก ร้องไห้เบาๆ
วัยเรียน อายุ 6-12 ปี
เป็นวัยที่สามารถทำกิจกรรมต่างๆได้ด้วยตัวเองมากขึ้น พึ่งพาผู้อื่นน้อยลง เมื่อสูญเสียการควบคุมตนเองทำให้เด็กซึม ทานอาหารได้น้อยลง เมื่อเจ็บป่วยเด็กจะเข้าใจเรื่องการเจ็บป่วยมากขึ้น แต่จะโทษตัวเองเช่น
ที่ตัวเองป่วยเพราะตัวเองไม่ดี ไม่ระมัดระวัง เด็กจะจินตนาการสูงและกลัวสูญเสียอวัยวะ กลัวตาย เด็กจะแสดงออกโดยการซึม เบื่ออาหาร
วัยรุ่น อายุ 12-18 ปี
แบ่งเป็นวัยรุ่นตอนต้น 12-15 ปี และวัยรุ่นตอนปลาย 16-18 ปี เป็นวัยที่เริ่มเข้าใจอะไรที่เป็นนามธรรมมากขึ้น รักอิสระ แสวงหาเสรีภาพ การเจ็บป่วยทำให้เด็กรู้สึกสูญเสียความเป็นตัวเอง พฤติกรรมการแสดงออกโดยการซึม ไม่ค่อยพูด แยกตัว เมื่อประสบอาการบาดเจ็บหรือความเจ็บปวด เด็กจะกังวลต่อภาพลักษณ์ค่อนข้างมาก เด็กวัยนี้จะมีความกังวลจากการแยกจากค่อนข้างน้อย แต่จะกังวลเกี่ยวกับสถานะทางสังคมมากกว่าครอบครัว
ที่มา - เอกสารประกอบการบรรยาย อ.สุชีวา วิชัยกุล
ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ
ข้อมูลจาก :
http://www.bangkokhealth.com