กรดไหลย้อน ต้นเหตุลูก'แหวะนม' อาการแหวะนมในเด็กทารก ช่วงวัย 6 เดือนแรกนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าลูกแหวะนม บวกกับอาการแทรกซ้อนอื่นก็เป็นเรื่องไม่ควรมองข้ามนะคะ เพราะลูกอาจเป็นโรคกรดไหลย้อน ซึ่งโรคนี้จะทำให้ลูกมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ แทรกซ้อนตามมาได้
เหตุเกิดจากหูรูดหลอดอาหาร
ภาวะไหลย้อนจากกระเพาะสู่หลอดอาหารในเด็ก เกิดจากหูรูดบริเวณหลอดอาหารส่วนปลายไม่แข็งแรง ทำให้นมหรืออาหาร รวมทั้งกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมา ส่วนสาเหตุอื่นที่อาจจะพบร่วมบ่อยๆ คือ อาจเกิดจากความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น เกิดจากความผิดปกติของการบีบรัดตัวของกระเพาะอาหาร รวมทั้งการบีบรัดตัวของหลอดอาหารด้วย
แหวะนมแบบไหนไม่ธรรมดา
แน่นอนค่ะว่าอาการสำคัญของโรคที่จะเห็นคือแหวะนม ซึ่งปกติทารกแรกเกิด–6 เดือนมีอาการแหวะนมบ้างเล็กน้อย แต่ถ้ามีอาการแหวะออกมาหลายๆ ครั้งต่อวัน และแต่ละครั้งมีปริมาณมาก บวกกับอาการงอแงผิดปกติหลังดูดนม ให้สงสัยว่าลูกอาจเป็นโรคกรดไหลย้อน
นอกจากลูกจะแหวะนมแล้ว อาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ด้วย ได้แก่ น้ำหนักตัวน้อย อาการของเลือดจาง อาเจียนเป็นเลือด หรือมีความผิดปกติของระบบอวัยวะอื่นๆ ได้แก่ ไอเรื้อรัง เสียงแหบ ปอดติดเชื้อบ่อยๆ หรือหอบหืด โดยที่ลูกไม่มีอาการแหวะนมเลย ในกรณีของอาการที่เกิดในระบบอวัยวะอื่นๆ ดังกล่าว มักทำให้คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้นึกถึงว่าเป็นโรคกรดไหลย้อน แต่เมื่อรักษาตามอาการก็หายเพียงชั่วคราวแล้วเกิดเป็นซ้ำอีกค่ะ
กรณีแบบนี้ถ้าคุณหมอที่รักษาสงสัยว่าจะเป็นเรื่องโรคกรดไหลย้อน ก็จะส่งให้คุณหมอเฉพาะทางโรคทางเดินอาหารในเด็กตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม 3 หนทางวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน
การตรวจวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนนั้นมี 3 วิธีค่ะ
1. กลืนแป้ง กรณีของเด็กเล็กที่มีอาการอาเจียนมาก ควรต้องแยกโรคที่ทำให้เกิดลำไส้อุดตันหรือทางเดินอาหารผิดปกติแล้วทำให้มีอาการอาเจียนออกก่อนนะคะ โดยทั่วไปแล้วจะใช้วิธีให้เด็กกลืนแป้ง (สารทึบแสง) แล้วถ่ายภาพเอ็กซเรย์ เพื่อดูหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้ว่ามีความผิดปกติที่อาจเป็นสาเหตุของอาการอาเจียนหรือไม่
การตรวจด้วยการกลืนแป้งนี้ บางครั้งก็สามารถช่วยวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนได้ เมื่อเห็นว่าแป้งที่กลืนลงไปในกระเพาะแล้วไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหาร
2. ตรวจเลือด ต้องตรวจเลือดเพิ่มเติม ถ้าสงสัยว่าเด็กมีโรคทางเมตาบอลิกที่ผิดปกติ เพราะจะมีสารบางอย่างที่เป็นพิษต่อร่างกาย จนทำให้เกิดการอาเจียน
3. วัดความถี่และปริมาณกรดไหลย้อน มักใช้สำหรับอาการที่เกิดในระบบอวัยวะอื่นๆ โดยที่ลูกไม่มีอาการอาเจียนหรือแหวะนมร่วมด้วย ซึ่งการตรวจวิธีนี้ทำได้โดยใส่สายทางจมูกลงไปถึงบริเวณหลอดอาหารส่วนปลาย เพี่อวัดปริมาณและความถี่ของกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
วิธีนี้จะช่วยในการวินิจฉัยได้แม่นยำ แต่เด็กต้องนอนในโรงพยาบาลประมาณ 1 คืน และการตรวจวิธีนี้ไม่มีในโรงพยาบาลทั่วไป จึงเป็นข้อจำกัดของการตรวจอย่างหนึ่ง
ข้อมูลจาก :
http://www.vcharkarn.com