ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
ดนตรีบำบัด
ดนตรีบำบัด เมื่อพูดถึง “ดนตรีบำบัด” หลายท่านอาจนึกไปถึงการใช้ดนตรีเพื่อบำบัดรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยทั้งทางกายและทางใจ แต่ความจริงแล้ว “ดนตรีบำบัด” ยังใช้เพื่อบรรเทาความเครียด และสร้างความสุขใจให้กับคนที่มีสุขภาพดีได้ด้วย 

ดนตรีบำบัดกับเด็กทั่วไป 
นายลิชฌน์เศก ย่านเดิม อาจารย์ประจำภาควิชาดุริยศาสตร์สากล คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวถึงดนตรีบำบัดว่า “ดนตรีบำบัดใช้กับเด็กทั่วไปได้ เพราะจะช่วยพัฒนา IQ และ EQ โดยเฉพาะในช่วงวัยแรกของชีวิต ประมาณ 0-3 ปี เป็นช่วงที่เหมาะสมมากที่จะพัฒนารากสมองให้เจริญเติบโตขึ้น พ่อแม่สามารถสร้างกิจกรรมดนตรีบำบัดให้ลูกได้ เช่น การร้องเพลงให้ฟัง จับลูกโยนตัวไปมา หาเพลงให้ลูกฟัง ซึ่งจะเป็นเพลงคลาสสิค หรือเพลงสมัยใหม่ก็ได้ สามารถใช้ได้เหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อลูกยังเล็ก ๆ การใช้เพลงกล่อมเด็กเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะเพลงกล่อมเด็กเป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาสำหรับเด็ก ทั้งท่วงทำนองนุ่มนวลและเนื้อเพลงที่มีความหมายดี ฟังแล้วรู้สึกอบอุ่น ทั้งยังทำให้ลูกได้ใกล้ชิดกับแม่ แม้กระทั่งการไกวเปลในขณะร้องเพลงให้ลูกฟัง ก็ยังเป็นการสร้างความรักความอบอุ่นให้ลูกได้ เพราะว่าเด็กสามารถสัมผัสถึงจังหวะในการไกวเปลได้ด้วย” 

ดนตรีบำบัดอารมณ์
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าดนตรีมีผลต่ออารมณ์ หลายครั้งที่เราพบว่าดนตรีทำให้อารมณ์ดีขึ้น การฟังเพลง การร้องเพลง หรือเล่นดนตรีก็เป็นการบำบัดอย่างหนึ่ง เมื่อใดที่เด็กได้ฟังดนตรีก็จะรู้สึกผ่อนคลายและสบาย เพราะดนตรีส่งผลดีต่อสมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับอารมณ์ที่เรียกว่า “นีโอคอร์เท็กซ์” ซึ่งส่วนนี้เองที่ทำให้มนุษย์มีความต่างออกไปจากสัตว์ มีความฉลาดเฉลียว ความคิดสร้างสรรค์ และการเรียนรู้ ดังนั้น เมื่อเด็กได้ฟังหรือเล่นดนตรีก็จะผ่อนคลายความเครียด มีสมาธิจดจ่อ และพร้อมที่จะเรียนรู้ ซึ่งนอกจากจะช่วยพัฒนาเรื่องเกี่ยวกับสมองแล้ว ดนตรียังช่วยให้คลื่นสมองสามารถเรียบเรียงความคิด พัฒนาการใช้เหตุผล และมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นด้วย กิจกรรมดนตรีจึงเป็นสิ่งที่น่าส่งเสริม 

ดนตรี เพื่อบำบัดลูกน้อย 
คุณพ่อคุณแม่สามารถหากิจกรรมดนตรีบำบัดให้กับลูกได้ อาจารย์ลิชฌน์เศกแนะนำว่า “พ่อแม่สามารถหาเพลงให้ลูกฟังได้ จะเป็นเพลงคลาสสิค เพลงป๊อป หรือ เพลงอะไรก็ได้ที่ลูกชอบ โดยไม่ต้องบังคับลูก เด็กควรจะรู้สึกชอบด้วยตัวเองและเขาก็จะฟังอย่างมีความสุข ซึ่งสามารถเริ่มให้ลูกฟังดนตรีได้ตั้งแต่อยู่ในท้อง โดยการเปิดเพลงแล้วใช้หูฟังแนบที่ท้อง เมื่อลูกโตขึ้นก็ให้เรียนดนตรี ร้องเพลง หรือเต้นรำ ซึ่งการเรียนดนตรีนั้นนอกจากความเพลิดเพลินแล้ว เด็กก็ยังได้ฝึกทักษะอย่างอื่น เช่น การประสานสัมพันธ์ระหว่างตากับสมอง ทั้งยังสามารถรู้จักตัวโน้ต ฝึกความพากเพียร และรับผิดชอบ เพราะต้องคอยซ้อมบ่อย ๆ เพราะฉะนั้นนอกจากจะช่วยบำบัดอารมณ์แล้ว ยังสามารถส่งเสริมคุณลักษณะที่ดีด้านอื่นๆ ได้อีก” 

ดนตรีบำบัด ...ทำได้ไม่ยาก
ฟังเพลงตั้งแต่ในครรภ์ การให้ลูกน้อยฟังเพลงตั้งแต่ในครรภ์เป็นประโยชน์มาก เพราะมีรายงานการวิจัยว่าทารกสามารถได้ยินเสียงทางหน้าท้องแม่ สามารถแยกความแตกต่างของระดับเสียงได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นเพลงคลาสสิค ทารกจะชอบมาก โดยดูจากการเต้นของหัวใจที่จะเต้นเพิ่มขึ้นในขณะที่ได้ฟังเพลง

ถึงตัวเล็กก็อยากเล่นดนตรี การเล่นดนตรีไม่ได้หมายถึงการเล่นเครื่องดนตรีที่จริงจัง จึงไม่จำเป็นต้องรอให้ลูกโตแล้วพาไปเรียนดนตรีอย่างเดียว การเล่นของเล่นที่ให้เสียงก็สามารถใช้ได้เหมือนกัน ของเล่นชิ้นเล็กที่เขย่าแล้วเกิดเสียงนำมาให้ลูกเล่นได้ ลูกอาจโยกตัวตามเสียงที่เคาะเป็นจังหวะ นั่นก็เป็นความสุขอย่างหนึ่งของเขาแล้ว ทั้งยังช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมือด้วย

ดนตรีมีหลากหลาย การฟังดนตรีมีหลายแบบ การที่ให้ลูกมีประสบการการฟังดนตรีหลายชนิด จะทำให้เขารู้จักดนตรีเยอะขึ้น และเลือกดนตรีที่เขาชอบได้ ไม่ว่าจะเป็นการประกวดร้องเพลง การแข่งขัน หรือ การพาลูกน้อยไปฟังเพลง ชมคอนเสิร์ต สามารถช่วยพัฒนาการของลูกได้มาก การทำกิจกรรมดนตรีด้วยกันเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวด้วย 

เรียนดนตรีกันเถอะ การเรียนดนตรี ไม่ใช่ทำให้เด็กรู้จักตัวโน้ตหรือเล่นดนตรีเป็นอย่างเดียว แต่ดนตรียังช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของลูก การจำตัวโน้ตช่วยฝึกความจำ การประสานสัมผัสมือ ตา และสมอง การเข้าสังคม และอารมณ์ที่เป็นสุข เดี๋ยวนี้มีหลักสูตรดนตรีที่ให้ผู้ปกครองเข้าไปเรียนกับลูกด้วย นอกจากจะช่วยให้ลูกเรียนได้ดีขึ้นเพราะมีพ่อแม่ช่วยทบทวนแล้ว ยังสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวอีกด้วย

เลือกดนตรีให้ลูกน้อย 


อาจารย์ลิชฌน์เศก ย่านเดิม กล่าวถึงการเลือกดนตรีสำหรับเด็กว่า “มีคำกล่าวว่า คนเรียนดนตรีคลาสสิคบอกถึงความเป็นคนละเอียดใจเย็น แต่คนที่คล่องแคล่วเคลื่อนไหวรวดเร็วก็น่าจะชอบแบบร็อค ซึ่งดนตรีแต่ละอย่างก็สามารถทำให้ผู้เรียนไปถึงจุดหมายได้เหมือนกัน อยู่ที่ว่าใครจะชอบแบบไหนมากกว่า เพราะฉะนั้นการเลือกดนตรีให้กับเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องคำนึงถึงความชอบของเด็กด้วย” 

ลูก...อารมณ์ร้อน ถ้าลูกหงุดหงิดฉุนเฉียวง่ายก็อาจจะเลือกเพลงที่เย็น ๆ นุ่ม ๆ ฟังสบาย ๆ เปิดไว้ทั้งวัน จะช่วยทำให้อารมณ์เย็นขึ้นได้ ซึ่งโดยมากน่าจะเป็นเพลงบรรเลงที่มีความช้าของจังหวะ มีความเรียบของทำนองหรือเพลงคลาสสิค เช่น เพลงของ Beethoven ถ้าเป็นเพลงไทยก็อาจจะเป็นช้า ๆ เช่น เพลงบัวขาว ก็จะช่วยให้รู้สึกดื่มด่ำกับดนตรีและเนื้อเพลงด้วย

ลูก...สมาธิสั้น เด็กที่มีความสนใจสั้นอาจฝึกความสนใจและสมาธิให้ยาวขึ้นด้วยการเปิดเพลงให้ฟังวีดีโอ ร้องเพลง หรือเรียนดนตรีก็ได้วันละประมาณ 10-20 นาที เช่น ถ้าเขาชอบเพลงของศิลปินคนไหนก็อาจให้เขาได้ร้องเพลงนั้นก็ได้ตามที่เขาชอบ คุณแม่ก็จะเห็นพัฒนาการของคุณลูกที่มีความสนใจนานขึ้น มีสมาธิมากขึ้น แต่ต้องทำบ่อย ๆ เพียงแค่ครั้งสองครั้งยังไม่เห็นผล ต้องใช้เวลา ซึ่งเพลงที่เหมาะสำหรับฟังเพื่อสร้างสมาธิและทำให้จิตใจสงบ ก็คือ เพลงของ Schubert เช่น เพลง String Quintet และ Piano Trios 

ลูก...ซึมเศร้า หากเจ้าตัวเล็กของคุณดูซึม ๆ ไม่ร่าเริง ลองเปิดเพลงที่ดูครื้นเครง เช่น เพลงที่มีจังหวะสั้นหรือเร็ว เช่น เพลงยุคคลาสสิคของโมสาร์ท เพลงสมัยใหม่ก็เป็นเพลงที่เต้นแล้วสนุก เช่น เพลงแร็พ ซึ่งจะช่วยทำให้อารมณ์ซึมเศร้าคลายลงและรู้สึกสนุกสนานขึ้น

คุณพ่อคุณแม่อาจลองนำไปใช้กับลูกน้อยดู บางทีอาจจะพบว่าเสียงดนตรีที่ไพเราะ จังหวะที่เหมาะสม ช่วยบำบัดอารมณ์ให้สงบเย็นและเป็นสุขได้ 

  
 ข้อมูลจาก : http://www.elib-online.com
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
items ต้องมี! ช่วยหนูน้อยฝึกการเข้าห้องน้ำ
items ต้องมี! ช่วยหนูน้อยฝึกการเข้าห้องน้ำ
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? เอกชน หรือรัฐบาล
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? เอกชน หรือรัฐบาล