ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
12 อาการผิดปกติที่พบได้ในลูกอ่อน (แรกเกิด - 3 เดือน)
12 อาการผิดปกติที่พบได้ในลูกอ่อน (แรกเกิด - 3 เดือน) ลูกวัยแรกเกิด - 3 เดือนแรก คุณพ่อคุณแม่มือใหม่มักกังวลไปตั้งแต่เรื่องกิน นอน ขับถ่าย เรียกว่าห่วงร้อยแปดพันประการกัน ยิ่งถ้าเป็นเรื่องสุขภาพของเจ้าตัวเล็กแล้วล่ะก็เรื่องใหญ่เชียว จึงถือโอกาสพาคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ไปทำความรู้จักโรคที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับลูกเล็กวัยแรกเกิดถึง 3 เดือนค่ะ 

Head to Shoulder

เริ่มจากส่วนบนสุดของร่างกายไล่ลงไปถึงหน้าอกของลูก ช่วงแรกนี้มีระบบการทำงานของร่างกายที่สำคัญ คือ ระบบการหายใจและระบบการทำงานของหัวใจ ซึ่งโรคที่มักพบได้บ่อยมีดังนี้ 

ระบบหายใจ

* หายใจเสียงดังเป็นช่วงๆ 
When : อาทิตย์แรกและอาทิตย์ที่ 2 หลังคลอด 
What : ลูกอาจจะจาม หายใจเสียงดัง หรือหายฮึดฮัดเป็นช่วง ๆ 
Why : ถ้าเป็นเพียงเล็กน้อยจะไม่มีอาการผิดปกติอะไร อาจเป็นเพราะลูกยังเล็กจึงยังหายใจทางปากไม่เป็น เลยหายใจทางจมูกได้ทางเดียว เมื่อจมูกมีขี้มูกอุดตันตรงบริเวณโพรงจมูก ก็จะทำให้เกิดเสียงดัง แต่ถ้าลูกหายใจเสียงดังมาก ๆ เหมือนนอนกรน ต้องมาพบคุณหมอ เพราะลูกอาจจะมีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อหลอดลมอ่อนตัว ทำให้เวลาหายใจเข้าหายใจเข้า-ออก กล้ามเนื้อเปิด-ปิดไม่สัมพันธ์กันจนเกิดเสียงดัง 
How to Care : หากเกิดจากกรณีที่ขี้มูกอุดตัน คุณแม่ควรใช้คัตตอนบัตชุบน้ำอุ่นเช็ดจมูกลูกหลังอาบน้ำทุกครั้ง แต่ถ้าเกิดจากสาเหตุอื่นให้คุณแม่ลองเปลี่ยนท่านอนของลูกใหม่ จากนอนหงายหรือนอนตะแคงเป็นนอนคว่ำอาจจะทำให้ดีขึ้น แต่ถ้าลูกหายใจเสียงดังมากควรพบคุณหมอจะดีที่สุด

หวัด
When : แรกเกิด - 3 เดือน
What : ลูกเล็กเมื่อเป็นหวัดก็จะมีอาการหายใจอึดอัด คัดจมูก อาจมีน้ำมูกไหล และเริ่มมีอาการไอตามมา 
Why : คนที่นำเชื้อโรคมาแพร่กระจายให้ลูกไม่ใช่ใครอื่นค่ะ ก็คุณพ่อคุณแม่หรือคนในบ้านนั่นแหละ เพราะลูกเล็กไม่ได้ออกไปนอกบ้านอยู่แล้ว ด้วยความที่ภูมิคุ้มกันโรคของลูกยังต่ำอยู่พอมีคนนำเชื้อมาให้ถึงที่ก็เลยทำให้ติดเชื้อได้ง่าย 
How to Care : ลูกเล็กเป็นหวัดนี่แนะนำให้มาหาคุณหมออย่างเดียวเลยค่ะ ห้ามซื้อยาให้ลูกกินเองเด็ดขาด ส่วนคนที่ต้องดูแลลูกเล็กหรือคนในบ้าน ถ้าเป็นหวัดไม่ควรเข้าใกล้ลูก ควรใช้ผ้าปิดปากปิดจมูกตัวเอง และควรล้างมือให้สะอาดก่อนอุ้มลูกด้วย ระบบการทำงานของหัวใจ

โรคหัวใจ
When : ส่วนใหญ่ถ้ามีอาการรุนแรงคุณหมอมักตรวจเจอตั้งแต่แรกเกิด 
What : ดูจากอาการทั่วไปอาจจะไม่รู้ว่าลูกเป็นโรคหัวใจค่ะ แต่ถ้าคุณแม่สังเกตจะเห็นว่า ลูกที่เป็นโรคหัวใจเวลาร้องไห้แล้วรอบปากจะเขียว หรือกินนมแล้วเหนื่อยกว่าปกติ เช่น ดูดๆ แล้วก็หยุด ดูดต่อเนื่องได้ไม่นานอย่างเคย แต่ถ้าเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วบางชนิดอาจจะไม่มีอาการเขียว คุณแม่ต้องสังเกตอาการอย่างอื่น ๆ ประกอบ 
Why : โรคหัวใจในเด็กเล็กเกิดจากความความผิดปกติของลิ้นหัวใจและทางเดินหลอดเลือดหัวใจ หากลูกเป็นโรคหัวใจอย่างรุนแรงมักมีอาการเร็ว แต่โรคหัวใจรั่วบางชนิดช่วงแรกอาจจะไม่มีอาการหรือไม่ได้ยินเสียงผิดปกติ แต่พอโตขึ้นจะเริ่มมีอาการหรือฟังเสียงหัวใจผิดปกติได้ ทำให้แพทย์ตรวจเจอความผิดปกติของหัวใจได้ที่สุด
How to Care : หมั่นสังเกตอาการลูกน้อยเวลาดูดนมหรือเมื่อร้องไห้มาก ๆ และต้องพาลูกมาพบคุณหมอตามเวลาที่นัดตรวจสุขภาพ เพราะตรวจสุขภาพแต่ละครั้งคุณหมอจะตรวจหัวใจด้วย 

ระบบทางเดินอาหาร

ฝ้าขาวหรือเชื้อราในปากหรือลิ้น 
When : แรกเกิด -3 เดือน
What : คราบสีขาวคล้ายฝ้าบนลิ้น และในช่องปากหรือกระพุ้งแก้ม
Why : ส่วนใหญ่เชื้อราในปากมักพบในเด็กที่กินนมผสมแล้วล้างจุกนมไม่สะอาดหรือมีสารปนเปื้อนอยู่ ยิ่งบ้านเราร้อนชื้นเชื้อรายิ่งแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ฝ้าขาวจะเกิดกับเด็กที่กินนมแม่ค่ะ บางคนก็บอกว่ากินนมแล้วกินน้ำตามสักนิด แต่ต้องคอยดูเพราะบางทีอาจจะเป็นเชื้อราได้ไม่ใช่แค่ฝ้านม 
How to Care : ถ้าเป็นฝ้าขาวธรรมดาควรกินน้ำตามหลังจากกินนมแม่ แต่ถ้ายังไม่หายให้ใช้ผ้าอ้อมหรือผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นเช็ดทำความสะอาด ถ้าเช็ดหรือขูดไม่ค่อยออกให้สงสัยว่าอาจจะเป็นเชื้อราในปาก ต้องมาพบคุณหมอเพื่อตรวจอย่างละเอียด

Body
ช่วงที่สองของร่างกายที่มีพื้นที่ค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นโรคที่พบช่วงลำตัวจึงเป็นโรคผิวหนังที่มองเห็นได้ด้วยตาเสียส่วนใหญ่ค่ะ 

ระบบผิวหนัง 

* Crale pap (หนังศีรษะเป็นสะเก็ด)
When : พบในช่วงอายุ 3 เดือนแรก
What : ผิวหนังบริเวณศีรษะเป็นสะเก็ด ซึ่งเป็นการลอกของผิวหนังตามปกติของเด็กเล็กตามปกติ เมื่ออายุ 3-6 เดือนไปแล้วก็จะหายไปเอง 
Why : ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน แต่อาจเป็นจากฮอร์โมนจากแม่ที่ผ่านมาสู่ลูก กระตุ้นให้ต่อมไขมันบริเวณหนังศีรษะเกิดเป็นสะเก็ดหลุดลอกออกมา
How to Care : ปกติแล้วผิวหนังเป็นสะเก็ดจะหายไปเอง เมื่ออาบน้ำหรือใช้ Baby Oil เช็ดก็จะหลุดออกไปเองค่ะ ถ้ายังไม่หายอาจจะพบคุณหมอเพื่อรับยากลุ่มสเตียรอยด์มาทาบริเวณที่เป็น แต่สะเก็ดนี้ก็ไม่เป็นอันตรายแก่ลูกแต่อย่างใด 

* ผดผื่น 
When : โดยเฉพาะแรกเกิดแต่จะหายไปเองภายใน 2-3 อาทิตย์
What : เป็นจุดแดง ๆ ขึ้นมาตามใบหน้าและตัว หรือผดผื่นแดงตามซอกเล็กๆ ขาหนีบ ซอกคอ และข้อพับ 
Why : ถ้าเป็นจุดแดงๆ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและหายไปเอง ส่วนผดผื่นที่เจอตามซอกต่างๆ ของร่างกายลูกอาจจะเป็นผดร้อน หรือไม่ก็เกิดจากการแพ้อะไรบางอย่าง เช่น แพ้สบู่ สารบางอย่าง หรือแม้กระทั่งแพ้นมผสมที่กินก็ทำให้แพ้และเป็นผื่นได้ 
How to Care : สำหรับผดผื่นแก้ด้วยการปกป้องความอับชื้น อาจจะทาแป้งบาง ๆ ลดความชื้น ที่สำคัญถ้าคุณแม่สังเกตเห็นตั้งแต่ช่วงแรกหรือก่อนกลับบ้าน ก็ควรถามคุณหมอเพื่อให้รู้ว่าผื่นที่เห็นนั้นเกิดจากอะไร และถ้า 2-3 อาทิตย์ผ่านไปแล้วผดผื่นยังไม่หายหรือเป็นมากขึ้นควรกลับมาพบคุณหมออีกครั้ง

*ตัวเหลือง 
When : แรกเกิด-1 เดือน
What : เจอบ่อยมากโดยเฉพาะเด็กไทย ซึ่งอาการตัวเหลืองนี้จะสังเกตได้จากตาและผิวหนังของลูก คุณแม่อาจจะสังเกตได้ด้วยการกดที่ผิวหนัง พอกดลงไปถ้าเหลืองผิวจะออกสีเหลือง แต่ถ้าไม่เหลืองจะออกเป็นสีขาวแทน 
Why : สาเหตุของตัวเหลืองมาจากหลายอย่าง แต่เด็กที่กินนมแม่จะเจอภาวะตัวเหลืองได้บ่อยๆ เพราะในนมแม่มีสารบางอย่างที่ยับยั้งการกำจัดสารเหลืองในร่างกาย แต่ก็เป็นเพียงชั่วคราวแล้วก็จะหายไปได้เองภายในอายุ 1 เดือน แต่ถ้าเป็นนานกว่านี้แสดงว่าเกิดความผิดปกติ หรือตัวเหลืองด้วยสาเหตุอื่น เช่น เป็นดีซ่านหรือโรคตับ คุณแม่ลองสังเกตว่าลูกจะมีปัสสาวะสีเข้มเพิ่มขึ้นกว่าปกติ หรืออุจาระสีซีดลงหรือเปลี่ยนเป็นสีออกขาว ๆ หรือถ่ายมัน ๆ ก็ให้สงสัย และควรรีบมาพบคุณหมอเพื่อตรวจเพิ่มเติม 
How to Care : ถ้าสังเกตว่าลูกตัวเหลืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งตาเหลือง แม้จะกินนมแม่ก็อย่าเพิ่งนอนใจ ควรรีบมาให้คุณหมอดูเบื้องต้น 

Stomach to Legs
ช่วงล่างสุดของร่างกายที่มีระบบทำงานที่สำคัญอย่างระบบการทำงานของทางเดินอาหารที่จะย่อยสลายเอาสารอาหารต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายของลูก และระบบทางเดินอาหารค่อนข้างที่จะเจ็บป่วยบ่อยกว่าระบบอื่น ๆ ด้วย 

*ท้องอืด 
When : แรกเกิด-3 เดือน
What : อาการท้องอืดก็เป็นเรื่องธรรมดาของเด็กเล็ก คุณแม่สังเกตได้จากท้องลูกจะป่อง ๆ อืด ๆ และรู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว 
Why : อาจจะเกิดจากการที่ลูกกินนมเข้าไปเยอะหรืออุ้มเรอหลังกินนมไม่เต็มที่ เพราะระหว่างที่ลูกดูดนมนั้นก็จะมีลมเข้าไปในท้องด้วย แต่ถ้าหากสงสัยว่าจะท้องอืดเป็นโรคต้องสังเกตดูว่าลูกมีอาการอื่น เช่น ท้องผูกหรือท้องเฟ้อมากกว่าปกติควบคู่ด้วยหรือไม่ 
How to Care : วิธีที่ง่ายที่สุดคือให้ลูกกินยาขับลมสำหรับเด็กที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป หรือช่วยทำให้ลูกผายลมด้วยการใช้คัตตอนบัตชุบวาสลีนแหย่ตรงรูทวารของลูก เพื่อกระตุ้นให้ลูกผายลมสะดวกขึ้น และต้องอุ้มเรอหลังกินนมในท่าที่ถูกต้อง

*ท้องผูก 
When : แรกเกิด-3 เดือน
What : ถ่ายวันเว้นวันและถ่ายแข็ง หรือ 2-3 วันถ่ายที 
Why : เด็กส่วนใหญ่ที่กินนมแม่จะถ่ายดี ถ่ายวันละ 6-7 ครั้งเป็นส่วนใหญ่ และถ่ายออกเหลือง ๆ เหลว ๆ แต่ถ้าเด็กที่กินนมผสมจะเห็นว่าท้องผูกถ่ายแข็ง หรือดูจากอาการอึดอัดเพราะแน่นท้องของลูก 
How to Care : ลูกเล็กไม่เกิน 1 เดือน คุณแม่อาจจะลองใช้วิธีสวนรูทวารหรือให้ลูกดื่มน้ำมากขึ้นก็ช่วยได้ และถ้าลูกอายุเกิน 1 เดือนคุณแม่อาจให้ลูกกินน้ำลูกพรุนเจือจาง โดยผสมในสัดส่วน 1 : 1 น้ำลูกพรุนครึ่งออนซ์ต่อน้ำต้มสุกครึ่งออนซ์ก็จะแก้อาการท้องผูกได้

*ท้องเสีย 
When : แรกเกิด-3 เดือน
What : เด็กที่กินนมแม่อาจจะถ่ายหลายครั้งต่อวันอยู่แล้ว แต่ถ้าลูกถ่ายเป็น 10 ครั้งขึ้นไป หรือลักษณะอุจจาระเปลี่ยนไป เช่น ถ่ายเป็นน้ำหรือเป็นมูก โดยเฉพาะที่มีเลือดปนถือว่ามีปัญหาเรื่องท้องเสีย
Why : ท้องเสียเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมากับน้ำ หรือขวดนมที่ล้างไม่สะอาดหรือผ่านการทำความสะอาดเชื้อโรคไม่ถูกวิธี 
How to Care : หากลูกมีอาการท้องเสีย ควรรีบพามาพบแพทย์ด่วนเพราะเชื้ออาจจะเข้ากระแสเลือดได้ง่ายและเร็วเพราะว่าภูมิคุ้มกันของลูกยังไม่ดีพอ แต่ก่อนมาคุณแม่ต้องสังเกตอาการของลูกด้วยว่ามีอุจจาระเป็นน้ำหรือเป็นมูกเลือดไหม ดูดนมได้ดีหรือเปล่า ปัสสาวะน้อยลงซึ่งจะบ่งบอกว่าเป็นอาการขาดน้ำหรือน้ำไม่พอ บางคนที่มีอาการซึมซึ่งอาจจะเกิดจากการติดเชื้อเข้ากระแสเลือดด้วย 

*โคลิก ร้องกวน 3 เดือน
When : ส่วนใหญ่จะเริ่มเมื่ออายุ 3-4 สัปดาห์ขึ้นไป
What : ช่วงแรกลูกอาจจะเงียบดี นอนเยอะ แต่ต่อมาจะมีอาการคือ อยู่เฉยๆ ก็ร้องและมักร้องติดต่อกันประมาณ 3 ชั่วโมงต่อวัน ทุกวัน และช่วงเวลาใกล้เคียงกันส่วนใหญ่จะเป็นใกล้พลบค่ำ เย็นๆ หรือดึกหน่อย เป็นเกือบทุกวัน อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้ง 
Why : ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากระบบประสาทของลูกที่อาจปรับสภาพระหว่างช่วงเวลากลางวันและกลางคืนได้ไม่ค่อยดี เลยรู้สึกหงุดหงิดและร้องกวนขึ้นมา หรือบางทีอาจจะมีปัญหาในช่องท้อง เช่น มีลมเยอะ ท้องอืด ฯลฯ และประมาณ ร้อยละ 10 ในจำนวนเด็กที่ร้องโคลิกพบว่ามีสาเหตุจากอาการแพ้โปรตีนนมวัวในนมผสม 
How to Care : ถ้าลูกร้องกวนให้หาห้องเงียบ ๆ ไม่เสียงดังให้ลูกอยู่ แล้วค่อยๆ กล่อมด้วยการอุ้มอาจจะโยกตัวนิดหน่อยก็จะช่วยให้ลูกสบายหลับได้ แต่บางคนถ้าคุณแม่อุ้มแล้วยังร้องไม่หยุดต้องผลัดกันอุ้มกับคุณพ่อ เพราะเมื่อคุณแม่เริ่มหงุดหงิดลูกก็จะรับรู้และยิ่งร้อง หรือถ้าไม่หยุดจริงๆ ก็ควรจะพามาพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง 

*แหวะนม (อ๊อก)
When : แรกเกิด-3 เดือน
What : เรื่องแหวะนมในเด็กเล็กถือเป็นเรื่องปกติถ้าสำรอกออกมานิดหน่อย แต่จะเป็นปัญหาก็ต่อเมื่ออาเจียนออกมาเกินครึ่งหรือทั้งหมดที่กินเข้าไป จนน้ำหนักตัวไม่ขึ้นตามเกณฑ์
Why : แหวะนมเกิดจากหูรูดของหลอดอาหารส่วนปลายไม่กระชับ ก็จะทำให้ลูกสำรอกนมมาบ่อยๆ 
How to Care : เวลาให้ลูกดูดนมหรือป้อนนมลูกควรอุ้มให้หัวลูกสูงขึ้น ถ้านอนบนเตียงแล้วป้อนนม ก็ต้องใช้หมอนรองให้ศีรษะของลูกสูงขึ้นกว่าปกติ และหลังกินนมควรอุ้มเรอซะก่อน หรืออาจจะใช้วิธีให้ลูกกินครั้งละน้อย ๆ แต่ถี่กว่าเดิม เพื่อให้นมย่อยเร็วขึ้น แต่ถ้าลูกกินนมแล้วอาเจียนมากหรือทุกมื้อจนน้ำหนักลด หรือมีอาการอื่น ๆ เช่น สำลักเข้าไปในปอดจะทำให้หายใจหอบขึ้น ควรรีบพาลูกมาพบคุณหมอ ในช่วงที่ลูกแรกเกิดถึง 3 เดือนแรก หากมีอาการผิดปกติอะไรคุณแม่ควรตั้งสติและสังเกตอาการของลูก เพราะเมื่อพาลูกไปพบคุณหมอสิ่งที่คุณแม่สังเกตและจดบันทึกไว้จะช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ควรซื้อยาให้ลูกวัยเบบี๋กินเองเด็ดขาดค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจากจาก : ผศ.พญ.ปานียา เพียรวิจิตร กุมารแพทย์โรคทางเดินอาหาร หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ข้อมูลจาก : นิตยสารดวงใจพ่อแม่ Modern Mom
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง