ก้าวทันลูก...ในโลกยุคดิจิตอล จริงๆแล้วการที่คุณยิ่งดึงลูกของคุณเข้าสู่โลกเทคโนโลยีได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งถือว่าเป็นการสร้างคุณค่าในการพัฒนาศักยภาพให้กับเขามากเท่านั้นและถ้าคุณปลูกฝังวัฒนธรรมที่ดีในการใช้เทคโนโลยีให้กับเขาได้เร็วเท่าไร เขาก็จะฉลาดใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ และไม่ถูกมอมเมาได้โดยง่ายเช่นกันค่ะ Mom Channel มีวิธีช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายตามลูกในโลกดิจิตอลให้ทันมาฝากค่ะ
1. ตั้งคอมพิวเตอร์ไว้ในจุดที่ทุกคนในบ้านเห็นได้ง่าย
การตั้งคอมพิวเตอร์ไว้ตรงจุดที่เป็นศูนย์รวมของสมาชิกทุกคนในบ้าน จะทำให้ปริมาณการใช้และลักษณะการใช้คอมพิวเตอร์ของเด็กอยู่ในสายตาของคุณตลอดเวลา และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นคุณจะสามารถเข้าไปแทรกแซงได้ทันการณ์ค่ะ
2. ติดตั้งซอฟท์แวร์ป้องกันเว็บไม่พึงประสงค์ทันทีที่คุณซื้อคอมพิวเตอร์ใหม่เข้าบ้าน
คุณควรจะหาซื้อซอฟท์แวร์ป้องกันเว็บไม่พึงประสงค์มาติดตั้งเอาไว้ เพื่อเป็นการป้องกันเสียแต่เนิ่นๆ อย่างน้อยก็ช่วยให้คุณสบายใจได้ในระดับหนึ่ง
3. ศึกษาการใช้ประโยชน์ล่วงหน้า
คุณอาจถามเอาจากเพื่อนๆ หรือน้องๆ หลานๆ ที่โตขึ้นมาหน่อยและพอมีความรู้เกี่ยวกับวิธีใช้เครื่องบ้าง ให้เขาช่วยสอน หรือแนะนำวิธีใช้อย่างง่ายๆ รวมถึงเว็บไซต์ที่น่าสนใจสำหรับเด็กเล็ก เพราะหากคุณมีความรู้เกี่ยวกับวิธีการใช้เครื่องบ้าง คุณจะสามารถให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่เขาได้ค่ะ
4. เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีไปพร้อมๆ กับลูกของคุณ
การใช้คอมพิวเตอร์ร่วมกัน เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมครอบครัวที่น่าสนใจนะคะ ไม่ต้องกังวลว่า คุณจะไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับเทคโนโลยี เพราะทุกอย่างต้องมีการเริ่มต้นเสมอ โดยปกติเด็กๆ จะรู้สึกตื่นเต้นกับความแปลกใหม่ที่เข้ามาในชีวิตของเขาเสมอ ดังนั้น การฉวยโอกาสนี้เริ่มต้นเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ไปพร้อมๆ กับเขา จะทำให้เขาเกิดความรู้สึกใหม่กับคุณ นั่นคือ ความเป็นเพื่อน และเมื่อมิตรภาพฉันเพื่อนเกิดขึ้นเขาจะบอกเล่าในทุกเรื่องให้คุณฟังค่ะ
5. แนะนำเว็บที่เหมาะสมกับเขา
หากคุณแนะนำให้เขาได้รู้จักเว็บที่ทำให้เขาได้ท่องไปในโลกกว้าง ได้รู้จักข้อมูลแปลกใหม่ที่เขายังไม่เคยรู้ก็สามารถดึงดูดความสนใจของเขาได้เช่นกัน ส่วนในเรื่องของเกม หากคุณแนะนำให้เขาได้เล่นเกมเพื่อการศึกษา อย่างเช่น สนุกกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษ หรือ คณิตคิดไว เขาก็จะรู้สึกสนุกกับเกมลักษณะนี้ได้เช่นกัน ที่สำคัญคือ คุณต้องสอนให้เขารู้จักควบคุมตัวเอง เล่นโดยใช้ทักษะในการคิดไตร่ตรองไม่ใช่ต้องการเอาชนะแต่เพียงอย่างเดียว เพียงเท่านี้เขาก็จะได้ประโยชน์จากเกมที่เล่นอย่างเต็มที่แล้วล่ะค่ะ
6. กำหนดเวลาการใช้
คุณอาจต้องกำหนดเวลาการใช้ที่แน่นอน เช่น 6 โมงเย็น ถึง 1 ทุ่มตรง ในวันจันทร์-ศุกร์ และไม่เกิน 3 ชม.ต่อวัน ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แต่อาจจะยืดหยุ่นให้กับเขาบ้างตามบางวาระ การกำหนดเวลา และชั่วโมงการเล่นจะทำให้เขาเกิดสำนึกที่จะต้องทำการบ้าน หรืองานที่อยู่ในความรับผิดชอบให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อนที่จะมานั่งเล่นอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ที่สำคัญก็คือ การนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลาติดต่อกันภายในชั่วโมงที่จำกัด นอกจากจะป้องกันไม่ให้เด็กรู้สึกเครียดแล้ว ยังช่วยในเรื่องของสมาธิอีกด้วยค่ะ
นอกจาก 6 วิธีง่ายๆไม่ยุ่งยาก ที่จะสามารถให้คุณสามารถก้าวตามลูกได้ทันในโลกยุคดิจิตอลแบบนี้แล้ว เรายังมีข้อแนะนำในการเล่นอินเตอร์เน็ตไปพร้อมๆกับลูกมาฝากอีกด้วยค่ะ
1. ค้นหาข้อมูลที่น่าสนใจ
โดยเริ่มจากเรื่องราวที่ลูกของคุณสนใจ และค่อยๆ แนะนำไปยังเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลอื่นที่น่าสนใจ และเหมาะสมกับวัยของ
2. สมัครอีเมล์ฟรี
เริ่มต้นจากการที่คุณสมัครใช้บริการอีเมล์ให้กับเขาและตัวคุณ แล้วผลัดกันรับส่งอีเมล์ บอกเล่าเรื่องราวที่คุณอยากจะบอกกับเขา ที่สำคัญคุณควรแลกเปลี่ยนพาสเวิร์ดกัน เพื่อที่คุณและเขาสามารถเช็กเมล์แทนกันได้ด้วย แต่มีข้อแม้ว่า เมล์ที่คุณจะนำมาใช้แลกเปลี่ยนกับเขาควรเป็นเมล์ส่วนตัวเฉพาะนะคะ
3. เข้าแสดงความคิดเห็นในเว็บบอร์ด
เลือกเว็บบอร์ดที่เปิดให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องราวในสังคม โดยข้อความที่ถูกส่งเข้ามามีความเหมาะสมกับวัยของเขา แล้วร่วมกันแสดงความคิดเห็นในกระทู้ที่น่าสนใจในเว็บบอร์ดนั้น รวมถึงร่วมกันติดตามความคิดเห็นที่ตอบกลับมาด้วย กิจกรรมนี้ นอกจากจะทำให้เขารู้จักติดตามข่าวสารบ้านเมืองแล้ว คุณยังจะได้สอนเขาให้กล้าแสดงออกอย่างเหมาะสมกับวัยด้วยค่ะ
4. เล่นเกมด้วยกัน
เกมไม่ได้มีแต่ข้อเสียเพียงอย่างเดียว ข้อดีของเกมก็คือ มีรูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจ เป็นสื่อที่ดีที่จะทำให้เด็กเข้าใจในเนื้อหาที่คุณต้องการนำเสนอแม้กระทั่งเกมแรกน่าร็อคที่ผู้ใหญ่ทั้งประเทศกำลังกุมขมับกันอยู่ขณะนี้ ก็สร้างทักษะที่เป็นประโยชน์ให้กับผู้เล่น อยู่ที่ว่าผู้เล่นจะเลือกรับเอาประโยชน์นั้นหรือไม่ สำหรับเด็กเล็กคุณอาจเริ่มด้วยการเลือกเกมการศึกษาอย่างง่าย แล้วค่อยเพิ่มระดับความยากตามวัยของเขา ขณะเล่นต้องคอยสอดแทรกจริยธรรมต่างๆ เข้าไปด้วย ที่สำคัญก็คือ กำหนดเวลาเล่นที่แน่นอน และเมื่อเขาโตขึ้น เขาจะเป็นผู้เลือกเกมที่จะเล่น และประโยชน์ที่เขาต้องการจากเกมนั้นๆ เองค่ะ
ข้อมูลจาก :
http://www.momchannel.com