สัญญาณเตือนโรคคาวาซากิในเด็ก
โรคคาวาซากิ (Kawasaki disease) หรือ “โรคหัดญี่ปุ่นในเด็ก” มักเกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อาการเริ่มต้นจะมีอาการคล้ายไข้หวัดแต่มักจะมีไข้สูงนาน ต่อมาจะเกิดการอักเสบที่นำไปสู่หลอดเลือดอักเสบทั้งร่างกาย รวมทั้งอาจทำให้หลอดเลือดหัวใจโป่งพองและเสียชีวิตเฉียบพลันได้
พ่อแม่ควรระวัง! โรคคาวาซากิมักพบในเด็กเล็ก
สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีการสันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวกับทางพันธุกรรม (genetic) ร่วมด้วย มักพบในเด็ก โดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 8 ปี พบมากในช่วงอายุ 1-5 ปี ซึ่งพบได้ทั้งสองเพศ แต่พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง (ประมาณ 1.5 :1)
อาการเตือนที่พ่อแม่ต้องสังเกตลูกน้อย
- เด็กจะมีไข้สูง ถ้าไม่ได้รับการรักษาไข้จะสูงนาน ประมาณ 1-2 สัปดาห์
- อาการตาแดง โดยเยื่อบุตาขาวจะแดง 2 ข้าง ไม่มีขี้ตา และเป็นหลังมีไข้ประมาณ 1-2 วัน และเป็นอยู่นาน ประมาณ 1-2 สัปดาห์
- มีการเปลี่ยนแปลงของริมฝีปากและภายในช่องปาก โดยริมฝีปากแดงแห้ง เป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์และผิวหนังริมฝีปากอาจแตกแห้ง เลือดออกและผิวหนัง หลุดลอกได้ ภายในเยื่ออุ้งปากจะแดงและลิ้นจะแดงคล้ายลูกสตรอว์เบอรี (Strawberry tongue)
- ฝ่ามือและฝ่าเท้าจะบวมแดงแต่ไม่เจ็บ หลังจากนั้นจะมีการลอกของผิวหนังบริเวณปลายนิ้วมือและนิ้วเท้า (ประมาณ 10-14 วันหลังมีไข้) และอาจลามไปที่ฝ่ามือฝ่าเท้าได้ บางรายเล็บอาจหลุดได้ หลังจากนั้นบางราย 1-2 เดือนจะมีรอยขวางที่เล็บ (Beau’s line)
- ผื่นตามตัวและแขนขา มักเกิดหลังมีไข้ 1-2 วัน และมีได้หลายแบบ และผื่นอยู่นานประมาณ 1 สัปดาห์ บางรายมีผื่นแถวอวัยวะเพศร่วมด้วย และพบประมาณ 60% มีผื่นแดงที่บริเวณฉีดยากันวัณโรดที่หัวไหล่ร่วมด้วย
- ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต โดยพบประมาณร้อยละ 50-70 ของผู้ป่วย ขนาดโตกว่า 1.5 ซม. แต่ไม่เจ็บ
- อาการแสดงอื่นๆ ที่อาจเกิดร่วมด้วย ได้แก่ ปวดตามข้อ ทางเดินปัสสาวะอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ ปวดท้อง ท้องเสีย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีการเปลี่ยนแปลงการทำงานของตับ และบางรายมาด้วยอาการช็อก
ยิ่งรักษาเร็ว ยิ่งลดโรคแทรกซ้อนที่อันตรายถึงชีวิต
ปัญหาสำคัญของโรคนี้ คือ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่หัวใจและเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ และการอักเสบกล้ามเนื้อหัวใจรอบๆ เส้นเลือด พบประมาณร้อยละ 20-30 ถ้าไม่ได้รับการรักษาภายในช่วง 7-9 วันแรกของโรค ซึ่งถ้าเกิดโรคแทรกซ้อนมากและรุนแรง อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ (ประมาณร้อยละ 1-2 )
วิธีรักษา
- ให้ยาแอสไพริน เพื่อลดการอักเสบของหลอดเลือดในช่วงแรก และให้เพื่อป้องกันลิ่มเลือดอุดตันในช่วงต่อมา
- ให้ยาอิมมูโนโกลบุลิน ทางหลอดเลือด ในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อลดโอกาสเกิดหลอดเลือดหัวใจโป่งพอง
- ติดตามอาการด้วยการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ
ในบางราย แม้อาการจะไม่ครบตามที่ว่ามา แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจ พ่อกับแม่ต้องรีบพาน้องไปพบแพทย์นะคะ
เรียบเรียงข้อมูลจาก https://chulalongkornhospital.go.th/
และ https://www.phyathai.com/