การบริหารความสุขภายในบ้าน ในครอบครัวที่มี สมาชิกอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ตั้งแต่สามี ภรรยา และลูกๆ หลานๆ ที่คลานตามกันออกมานั้น
การบริหารจัดการให้คนในครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขถือเป็นความสำเร็จสูงสุดของครอบครัว นั้นๆ เพราะคนหลายๆ คนที่อยู่ปะปนร่วมกันปีแล้วปีเล่าตราบนานเท่านาน ย่อมยากที่จะบริหารจัดการให้มีความสุขร้อยเปอร์เซ็นต์
ส่วนจะกระเด็นหายไปสักกี่เปอร์เซ็นต์ย่อมเป็นความสามารถของผู้บริหารที่จะ จัดการได้ดีแค่ไหน
บางคนใจอยากบริหารให้ได้ดี แต่เมื่อไม่มีแนวทางที่ชัดเจน ก็ย่อมกะเกณฑ์บริหารตามอำเภอใจ ทำให้บรรลุเป้าหมายได้ยาก
วันนี้เลยอยากจะฝากแนวทาง ของการบริหารจัดการให้ทุกคนในครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
ในชีวิตของคนเรานั้น หนีไม่พ้นที่จะวนเวียนเคลื่อนไหวอยู่ 3 อย่าง คือ คิด พูด และ ทำ
โดยทั่วไปคนเรามักจะคิดเป็นหลัก หรืออาจกล่าวได้ว่าใช้ความคิดอยู่ตลอดเวลา
แม้แต่เวลาที่หลายคนบอกว่า ปล่อยวางตามสบายไม่ได้คิดอะไรนั้น ถ้าสังเกตดีๆ จะรู้ได้ทันทีว่าเรายัง คิดโน่นคิดนี่อยู่เหมือนเดิม
คนเราจึงใช้เวลากับการคิดมากที่สุด
รองลงมาจากการคิดก็คือ พูด
เมื่อคิดโน่นคิดนี่มากมายก่ายกองแล้ว ก็ อดที่จะถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นคำพูดไม่ได้
คนเราจึงมักพูดในสิ่งที่ตนเองคิดหรือพูดจากความคิดของคนอื่นที่ตนได้ฟังได้อ่านมาอยู่บ่อยๆ ที่คนเราเคลื่อนไหวน้อยกว่าพูดและคิด ก็คือ ทำ
คนทั่วไปจึงมักจะคิดพัน แต่พูดแค่ร้อย และทำเพียงสิบ
แต่ไม่ว่าจะคิด พูดและทำ มากน้อยแค่ไหนก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ความสำคัญอยู่ตรงที่ว่าการคิด พูดและทำ ของคนเรามีส่วน ช่วยทำให้เกิดความสุขได้หรือไม่
การหันมาพิจารณาถึงแนวทางการบริหารจัดการให้ทุกคนในครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ควรเน้นกันทุกบ้าน
ขอเริ่ม ที่แนวทางแรก คือ เมื่อจะคิด พูด ทำ อะไร ต้องถามตัวเองตลอดเวลาว่า เป็นความจริงหรือไม่
เพราะถ้าคนเราอยู่ด้วยกันไม่ว่าจะ เป็นสามี ภรรยา หรือพ่อแม่ลูก ถ้าไม่เอาความจริง มาคิดพูดและทำต่อกัน
ไม่ช้าไม่นาน บ้านนั้นก็จะมีแต่ความทุกข์
มีแต่ความจริงเท่านั้นที่จะรังสรรค์ ให้ความ สัมพันธ์ในครอบครัวเป็นไปอย่างราบรื่นเหมือนยืนอยู่บนแพรไหม
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ต้องให้ "ความจริง" เป็นหลักในการคิด พูด และทำอยู่ตลอดเวลา
แนวทางที่สอง คือ เมื่อจะคิด พูด และทำอะไร ต้องถามตัวเองว่า เป็นความเที่ยงธรรมแก่ทุกๆ คนในบ้านของเราหรือไม่
คนเราจะอยู่ร่วมกันได้ ไม่ว่ายากดีมีจน ขึ้นอยู่กับว่าอยู่กันบนความเที่ยงธรรมหรือเปล่า
ถ้าต่างคนต่างก็เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน วันที่บ้านแตกต้องมาถึงแน่นอน
ความเที่ยงธรรมจึงเป็นเครื่องค้ำยัน ให้ความสัมพันธ์ของกันและกันมั่นคงตรงไปตรงมา
ตามประสาคนอยู่ร่วมชายคาเดียวกันได้เป็นอย่างดี
ลองสังเกตดูดีๆ จะเห็นว่า กรณีที่ลูกหลานทะเลาะเบาะแว้งกันนั้น มักเกิดจากการที่ไม่มีความเที่ยงธรรมภายในบ้าน
บ้านไหนไม่อยากมีเรื่องทะเลาะกันก็ยึดแนวทางนี้ไว้ให้ดี
แนวทางที่สาม คือ เมื่อจะคิด พูด และทำอะไร ต้องถามตัวเองว่า จะก่อให้เกิดไมตรี มีมิตรภาพต่อกันหรือไม่
คนบางคนสักแต่ว่าคิด พูด ทำอะไรไปเรื่อยเปื่อยโดย ไม่คำนึงถึงข้อนี้ ทำให้มีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจได้ง่าย
จิตใจเมื่อถูกกระทบแล้วก็เหมือนแก้วที่ร้าวจะเอากาวมาทายังไงก็ไม่เหมือนของเดิม
จึงควรเริ่มระมัดระวังตั้งแต่ต้น จะคิดจะพูด จะทำอะไรให้คำนึงถึงไมตรีจิต มิตรภาพของภายในบ้านเป็นเรื่องสำคัญ
คนบางคนคิดถึงแต่ไมตรีจิต มิตรภาพกับคนนอกบ้าน จนลืมคนในบ้าน คิดง่ายๆ ว่าคนในบ้านของตาย ยังไงๆ ก็ต้องอยู่ด้วยกันอยู่แล้ว จะคิดจะพูดจะทำยังไงต่อกันก็ได้ ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องแน่นอน ต้องย้อนมาดูคนในบ้านด้วยจะช่วยให้ภายในบ้านมีสุขแน่นอน
แนวทางที่สี่ หนีไม่พ้นที่จะต้องถามตัวเองว่า สิ่งที่เราจะคิด พูด ทำ
จะเกิดผลดีแก่สมาชิกในครอบครัวเราหรือไม่
อะไรที่คิดแล้ว พูดแล้ว ทำแล้ว มันไม่เกิดผลดี ลองไตร่ตรองดูทีว่า จะขมีขมันขยันทำไปทำไม
บางคนสักแต่ว่าจะคิดจะพูดจะทำ แต่ไม่คำนึงถึงว่าจะเกิดผลดีแก่คนในครอบครัวหรือไม่ พอเกิดผลร้ายออกมาก็ได้แต่ต่อว่าตัวเองว่า ไม่น่าเล้ย
แต่ก็ สายเกินไปเสียแล้วเพราะผลเสียได้เกิดขึ้นแล้ว
ทั้งสี่แนวทางที่ยกมา ถ้านำไปบริหารจัดการกันอย่างจริงจังกันภายในครอบครัว ก็ไม่ต้องกลัวว่าความทุกข์จะมาหา
จะมีแต่ห้วงเวลาแห่งความสุขมาเยือนอยู่ชั่วนิจนิรันดร์แน่นอน
ข้อมูลจาก :
http://www.weddingmind.com