ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
Sponsors
view all
Banner
view all
Article
Share
รพ.เด็กแนะวิธีป้องกันภัยที่มาจากน้ำท่วม
รพ.เด็กแนะวิธีป้องกันภัยที่มาจากน้ำท่วม ช่วงนี้หลายจังหวัดของประเทศไทยประสบกับปัญหาน้ำท่วมอย่างรุนแรง เนื่องจากฝนที่ตกหนักต่อเนื่องกันมาหลายสัปดาห์ หลายครอบครัวมีปัญหาทั้งเรื่องที่พักอาศัย และความสะอาดของอาหาร อีกทั้งยังต้องดูแลเด็กๆ ให้ห่างไกลจากภัยที่มากับน้ำท่วมด้วยโดยเฉพาะการจมน้ำ

การจมน้ำเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปีเสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่ง และสูงกว่าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรถึง 2 เท่า โดยในแต่ละปีมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตถึงเกือบ 1,500 คนหรือเฉลี่ยวันละ 4 คน 

พญ.พิมพ์ภัค ประชาศิลป์ชัย ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “จริง ๆ แล้วแค่เพียงระดับน้ำเพียง 1-2 นิ้ว ก็สามารถทำให้เด็กเล็ก ๆ จมน้ำได้แล้ว และเด็กส่วนมากมักจมน้ำบริเวณแหล่งน้ำใกล้บ้าน คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลเด็ก ๆ อย่างใกล้ชิดขณะเด็กเล่นน้ำ ไม่ควรปล่อยให้เด็กไปเล่นน้ำ จับปลา พายเรือ หรือว่ายน้ำตามลำพัง และควรให้เด็กๆยืนห่างจากขอบแหล่งน้ำเพื่อป้องกันการลื่นตกด้วย รวมถึงไม่ควรให้อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน เพราะความเย็นของน้ำจะทำให้เด็กเป็นตะคริวได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์น้ำท่วมแบบนี้ต้องระวังเป็นพิเศษ และถ้าต้องเดินทางทางเรือก็ควรสวมเสื้อชูชีพให้เด็ก ๆ ตลอดเวลาที่เดินทางด้วยค่ะ”

“ถ้ามีเหตุจมน้ำเกิดขึ้น ไม่ควรให้เด็กลงไปช่วยเหลือกันเอง ควรบอกให้ผู้ใหญ่ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงช่วยเหลือแทน สำหรับวิธีการช่วยเหลือ ถ้าเด็กรู้สึกตัวดี และหายใจเองได้ ควรเปลี่ยนเสื้อผ้าให้เด็ก และรีบเช็ดตัวเด็กให้แห้ง เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย แต่ถ้าเด็กหายใจเองไม่ได้หรือหัวใจหยุดเต้น ให้รีบทำการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น และรีบเปิดทางเดินหายใจ โดยให้เด็กนอนราบกดหน้าผากและเชยคางขึ้นเบาๆ ถ้าเด็กยังไม่หายใจแต่ชีพจรยังเต้นอยู่ ให้ทำการเป่าปากต่อเพียงอย่างเดียว โดยทำ 20 ครั้ง/นาที และให้รีบนำเด็กส่งโรงพยาบาล ห้ามจับอุ้มพาดบ่า กระโดด หรือวิ่งรอบสนาม เพราะจะทำให้ขาดอากาศหายใจนานยิ่งขึ้นค่ะ “ พญ.พิมพ์ภัค กล่าว

ที่สำคัญ แม้ว่า เด็กๆ จะว่ายน้ำเป็น ผู้ปกครองก็ไม่ควรปล่อยให้เด็กๆ อยู่ตามลำพัง เพราะเด็กอาจได้รับอันตรายจากสัตว์มีพิษที่อาศัยอยู่ใต้น้ำ เช่น งู ปลิง เป็นต้น


นอกจากนี้ยังมีโรคต่างๆ ที่ระบาดมากในช่วงน้ำท่วมที่คุณพ่อคุณแม่ควรระวังด้วย พญ. พิมพ์ภัคกล่าวถึงโรคต่างๆ ไว้ดังนี้ 

- โรคแรก คือ โรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร หรือ ที่เรียกกันทั่วๆ ไปว่า โรคอุจจาระร่วง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค แบ่งออกเป็นหลายชนิด เช่น โรคไทฟอยด์ อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ โรคเหล่านี้อาจติดต่อจากการสัมผัสอุจจาระ หรืออาเจียนของผู้ป่วยซึ่งแพร่กระจายอยู่ในอาหารและน้ำดื่ม โดยมีแมลงวันเป็นพาหะนำโรค อาการทั่วไป เด็กๆ จะมีอาการมีไข้ ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำวันละหลายครั้ง หรือถ่ายอุจจาระมีมูกหรือเลือดปน คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งในเด็กจะพบว่ามีอาการรุนแรง และเสี่ยงต่อการมีภาวะขาดน้ำ และเกลือแร่กว่าผู้ใหญ่ค่ะ การป้องกันคือ ดื่มและใช้น้ำที่สะอาด ควรระวังอย่าให้น้ำที่ท่วมขังอยู่เข้าปาก และไม่ควรนำเหล่านั้นมาล้างภาชนะ ถ้วยชาม หรือผักผลไม้ อีกทั้งยังต้องล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำ ไม่ถ่ายลงในน้ำ เก็บภาชนะที่ใส่อาหารให้มิดชิด ไม่ให้มีแมลงวันตอม แต่ถ้าเด็กๆ เริ่มมีอาการท้องร่วง ก็ควรให้เด็กๆ ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (โออาร์เอส) ทานอาหารอ่อนๆ ที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ควรงดอาหารรสจัด หรืออาหารทอดน้ำมัน เพราะจะยิ่งทำให้ท้องอืด ปวดท้องมากขึ้น และถ้ารักษาเบื้องต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรพาไปปรึกษาแพทย์

- โรคที่สอง คือ โรคตาแดง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดได้ทั้งจากเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อไวรัส มักจะติดต่อด้วยการสัมผัสจากมือ ผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าเช็ดตัว เด็กๆ จะมีอาการคันตา มีน้ำตาไหลมากผิดปกติ มีขี้ตามาก เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง การป้องกันคือ สอนให้เด็ก ๆ ล้างมือให้สะอาดบ่อย เมื่อน้ำสกปรกเข้าตาเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดค่ะ และถ้าเด็กๆ มีอาการปวดตา หรือมองแสงไม่ได้ควรรีบพาไปปรึกษาแพทย์

- โรคที่สาม คือ โรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อรา ซึ่งเกิดจากการย่ำน้ำ หรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรคหรือเท้าอับชื้นอยู่เป็นเวลานาน อาการจะเริ่มด้วยตุ่มใสบริเวณง่ามเท้า คันตามซอกนิ้วเท้า ผิวหนังลอกเป็นขุย มีอาการคันมากจนแตกเป็นแผล การป้องกัน คือ ควรล้างเท้าให้สะอาด เช็ดให้แห้ง รักษาได้โดยใช้ยาทารักษาเชื้อรา แต่ถ้ามีอาการรุนแรงและเรื้อรัง ทายาไม่ได้ผล อาจต้องไปปรึกษาแพทย์

- โรคสุดท้าย คือ โรคฉี่หนู หรือเรียกอีกชือหนึ่งว่า โรคเลปโตสไปโรสิสค่ะ โรคนี้เป็นโรคที่ส่วนมากพบในผู้ใหญ่ แต่ก็สามารถเกิดในเด็กได้ด้วยนะคะ โดยเฉพาะในช่วงน้ำท่วม โรคนี้เป็นโรคที่ติดต่อมาจากสัตว์ เชื้อโรคจะอยู่ในปัสสาวะของสัตว์ เช่น หนู โค กระบือ ตลอดไปจนถึงสัตว์เลี้ยงในบ้านอย่างสุนัขหรือแมว คนจะสามารถรับเชื้อเข้าไปทางบาดแผล หรือผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานานๆ รวมถึงเยื่อเมือกอย่างตาและปากอีกด้วย อาการสำคัญ คือ จะมีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ และศีรษะมาก เด็กๆ บางคนจะมีอาการตาแดง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย ซึม และท้องเดินร่วมด้วย จำเป็นต้องรีบพบแพทย์ เนื่องจากทำให้มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเสียชีวิตได้

การจะป้องกันโรคนี้ ถ้ามีแผลในบริเวณที่สัมผัสกับน้ำได้ง่าย ควรหลีกเลี่ยงการเดินหรือเล่นน้ำ ในบริเวณที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเด็กๆที่มักจะสนุกสนานไปกับการย่ำน้ำหรือเล่นน้ำในช่วงน้ำท่วม และถ้าเป็นไปได้ควรใส่รองเท้าบูททุกครั้งเมื่อเดินลุยน้ำ

"การป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางน้ำ และการป้องกันโรคเหล่านี้เป็นเรื่องที่ง่ายกว่าการแก้ไข หรือรักษานะคะ เพราะฉะนั้น อย่าลืมใส่ใจความปลอดภัย และสุขภาพอนามัยของเด็กๆ ในช่วงน้ำท่วมด้วย" พญ. พิมพ์ภัค กล่าวสรุป
  
ข้อมูลจาก : http://www.vcharkarn.com/varticle/43379
Article Other
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
Sponsors
view all
Banner
view all