พัฒนาการทารกเดือนต่อเดือนและการส่งเสริมพัฒนาการที่เหมาะสม
ช่วงแรกเกิด
นอนหลับนาน 17 – 18 ชั่วโมงต่อวัน การมองเห็นยังไม่ดีนัก รับรู้ความรู้สึกได้จากการถูกสัมผัส และสามารถคว้าจับสิ่งของได้ เวลาหิวจะส่งเสียงร้อง
วัย 1 เดือน
เริ่มนอนนานขึ้น 4-5 ชั่วโมง นอนหลับและตื่นสลับกัน 7 - 8 ครั้ง / วัน ยังไม่สามารถพยุงศีรษะให้ตั้งตรงได้ และมักจะหงายไปข้างหลัง เริ่มพลิกตัวตะแคงเวลานอนได้
การกระตุ้นพัฒนาการทารกวัย 1 เดือน นำโมบายมาติดไว้ที่ปลายเตียง เพื่อกระตุ้นประสาทสัมผัสด้านการมองเห็นและการได้ยิน พาลูกอุ้มเดินพูดคุย หรือร้องเพลงให้ลูกฟังบ่อยๆ กล่อมลูกด้วยเสียงร้องของตัวเอง
วัย 2 เดือน
กินนมทุก 4 ชม. และนอนหลับยาวประมาณ 7 – 8 ชม ในตอนกลางคืน /เด็กบางคนมีอาการร้องโคลิค / เริ่มจำเสียงและสัมผัสของแม่ได้มากขึ้น รู้จักการดูดนิ้วเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ของตนเอง
การกระตุ้นพัฒนาการทารกวัย 2 เดือน หาของเล่นประเภทมีเสียงให้ลูกถือเขย่า จับแขน ขา ลูกยกขึ้น-ลงอย่างอ่อนโยน พูดคุยกับลูกบ่อยๆ ลองทำเสียงต่างๆ เช่น เสียงสัตว์ หรือร้องเพลงให้ลูกฟัง
วัย 3 เดือน
เริ่มรู้จักใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้ามากขึ้น จำเสียงแม่ได้ และเริ่มฟังเสียงที่อยู่รอบๆ ตัว เริ่มยกศีรษะได้ประมาณ 45 องศา
การกระตุ้นพัฒนาการทารกวัย 3 เดือน หาของเล่น เช่น ลูกบอลผ้าสักหลาด หรือของเล่นมีเสียงกรุ๊งกริ๊ง มาถือบนมือแล้วเคลื่อนย้ายจากทางซ้ายไปทางขวาช้าๆ เพื่อให้ลูกมองตาม
วัย 4 เดือน
สามารถก้ม มอง เงย เอี้ยวซ้ายเอี้ยวขวามองได้รอบๆ ตัว เริ่มเหยียดแข้งเหยียดขาได้ เริ่มมีอาการติดสิ่งของบางอย่าง รู้จักการแสดงออกด้วยการส่งเสียงเสียงดัง เวลาไม่พอใจ หรือไม่สบายเนื้อตัว
การกระตุ้นพัฒนาการทารกวัย 4 เดือน จับลูกนั่งตักแล้วจับส่วนต่างๆ บนใบหน้าของเขาพร้อมกับพูดเสียงช้าๆ ชัดๆ ว่านี่หูของ (ชื่อลูก) นี่จมูกของ (ชื่อลูก) นี่ปากของ (ชื่อลูก) จากนั้น ทำสลับกันกับคุณแม่บ้าง
วัย 5 เดือน
เริ่มพลิกคว่ำพลิกหงาย ถีบแข้งถีบขา ยังนั่งได้ไม่ดีนัก เริ่มหยิบจับสิ่งของใกล้ตัวมาเขย่า ตี บีบ หรือเอาเข้าปากไปอม หรือกัด การกระตุ้นพัฒนาการทารกวัย 5 เดือน วางของเล่นไว้ใกล้ๆ ให้เขาพยายามไขว่คว้าหยิบไปเล่น
จัดหาของเล่นที่มีความปลอดภัย ไม่แหลมคม มีผิวสัมผัสที่แตกต่างกัน และของเล่นมีเสียงให้ลูกเล่น
วัย 6 เดือน
เริ่มพลิกตัวและเอี้ยวตัวได้อย่างคล่องแคล่ว นั่งได้มั่นคงมากขึ้น เริ่มคืบไปข้างหน้าหรือถอยหลังได้บ้างแล้ว เริ่มรู้สึกคันเหงือก ไม่ค่อยสบายในปากจากการที่ฟันเริ่มจะขึ้น
การกระตุ้นพัฒนาการทารกวัย 6 เดือน หายางกัดลวดลายน่ารัก ขนมปังกรอบ หรือผักผลไม้เนื้อแข็งมาให้ลูกกัดเล่นแก้คันเหงือก ชวนลูกเล่นจ๊ะเอ๋ ทำหน้า หรือท่าทางตลกให้ลูกดู หาของเล่นผ้า ตุ๊กตา หรือของเล่นบีบแล้วมีเสียงมาให้ลูกเล่น รวมถึงกระจกพลาสติก ไว้ให้ลูกส่องดูตัวเอง
วัย 7 เดือน
เริ่มมองอวัยวะต่างๆ ของตัวเอง เริ่มนั่งได้มั่นคงแล้ว และพยายามที่จะเคลื่อนไหวร่างกาย เริ่มพูดออกเสียงเป็นคำๆ มีอาการติดแม่มากขึ้น
การกระตุ้นพัฒนาการทารกวัย 7 เดือน หาของเล่นที่มีรูปทรงและขนาดแตกต่างกันมาให้ลูกเล่น
วัย 8 เดือน
พยายามเลียนแบบคนที่อยู่รอบข้าง ชอบเล่น ยิ้ม และลูบคลำภาพในกระจก เริ่มลุกจากท่านอนไปนั่งได้แล้ว เด็กบางคนจะคืบได้ และเด็กบางคนจะคลานได้
การกระตุ้นพัฒนาการทารกวัย 8 เดือน ให้ลูกได้เคลื่อนที่บนพื้นผิวบนเสื่อหรือเบาะ เพื่อให้คืบคลานได้ตามใจ อ่านนิทานให้ลูกฟัง
วัย 9 เดือน
เริ่มคลานได้คล่องขึ้นแล้ว และบางคนอาจจะคลานไปด้วยถือของเล่นไปด้วย กล้ามเนื้อมัดเล็กทำงานได้ดีขึ้น เริ่มพูดคำ 1-2 พยางค์สั้นๆ ได้
การกระตุ้นพัฒนาการทารกวัย 9 เดือน อ่านนิทานแบบบรรยายรายละเอียดลงไป ฝึกลูกดมกลิ่นจากดอกไม้ อาหาร และผลไม้ ให้ลูกชิมรสอาหารต่างๆ ทั้งเปรี้ยว หวาน ขม คอยระมัดระวังความปลอดภัยในบ้านโดยใช้มุ้งครอบพัดลม และถ้าจะให้ดี ตำแหน่งปลั๊กไฟควรอยู่สูงพ้นมือลูก
วัย 10 เดือน
เริ่มอยากเลียนแบบ เริ่มสังเกตความแตกต่างของเด็กผู้ชายเด็กผู้หญิง และรู้จักอวัยวะในร่างกายตัวเอง นั่งได้ดี และเอี้ยวตัวไปหยิบจับสิ่งของใกล้ตัวได้ ไม่ล้ม เกาะเดิน เพื่อไปหยิบสิ่งของได้ถนัดขึ้น
การกระตุ้นพัฒนาการทารกวัย 10 เดือน เด็กในวัยนี้จะพยายามหัดทำอะไรด้วยตนเอง และอยากเดิน ลูกจะเริ่มด้วยการนั่ง เกาะยืน และเริ่มตั้งไข่ ควรเตรียมเบาะ หรือผ้าปูนิ่มๆ เพื่อป้องกันเวลาลูกล้มแล้วจะหงายหลัง หรือเจ็บตัว
วัย 11 เดือน
เริ่มมีสมาธิในการฟังมากขึ้น พยายามหัดทำอะไรด้วยตนเอง เช่น หัดเดิน หัดตักข้าวใส่ปาก ถ้าคุณแม่บอกให้เขาทำอะไร เขาจะพยายามทำให้ดี และต้องการคำชม
การกระตุ้นพัฒนาการทารกวัย 11 เดือน หาหนังสือภาพ โปสการ์ด นิตยสารที่มีรูปเยอะๆ มาเปิดแล้วชี้ชวนให้ลูกดูว่าของสิ่งนี้คืออะไร เพื่อเพิ่มคำศัพท์ใหม่ๆ ฝึกให้ลูกได้ลองหยิบ จับ ขยำ โยน ขว้างของเล่น ฝึกให้ลูกเคลื่อนไหวโดยการใช้รถไขลาน หรือตุ๊กตาไขลาน เพื่อให้ลูกรู้สึกอยากคลานตาม
วัย 12 เดือน
เริ่มเรียนรู้ผ่านการเล่นและกิจวัตรในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น สามารถแยกของเล่นตามสีและรูปร่างได้ เด็กบางคนอาจจะเดินได้คล่อง ในขณะที่บางคนเดินไปได้ไม่กี่ก้าวก็ล้มลง คุณแม่และคนในบ้านควรช่วยกันให้กำลังใจ
การกระตุ้นพัฒนาการทารกวัย 12 เดือน หมั่นพาลูกเดิน และประคองอยู่ใกล้ๆ เพื่อให้เขามั่นใจที่จะลองยืนและเดินด้วยตนเอง คุณแม่ควรร้องเพลงสั้นๆ แล้วทำท่าทางประกอบด้วย
เรียบเรียงข้อมูลจากจาก https://www.familymildthailand.com/