ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
Sponsors
view all
Banner
view all
Article
Share
เด็กๆก็เป็น เบาหวานได้
เด็กๆ ก็เป็น เบาหวานได้ “ตอนแรก เราคิดว่า ลูกป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่” “คุณครูบอกว่า สงสัยลูกจะมีปัญหากระเพาะปัสสาวะอักเสบ เพราะเห็น เข้าห้องน้ำบ่อยๆ และหิวน้ำตลอดเวลา” “ลูกบ่นว่า รู้สึกเพลียและ เริ่มมีน้ำหนักลดลง เราคิดว่าลูกคร่ำเคร่ง เรื่องการสอบ หรือ ว่ากลัวอ้วน จึงพยายามลดน้ำหนัก” 

โรคเบาหวานนั้นเป็นได้กับเด็ก ไม่ได้จำกัดว่าจะเป็นแต่กับผู้ใหญ่เท่านั้น โดยอาการแสดงของเบาหวานในเด็ก ในช่วงแรกนั้น มักจะไม่มีอาการจำเพาะให้เห็นแตกต่างไปจากโรคอื่นๆ ที่พบบ่อยในเด็ก ทำให้คุณพ่อ คุณแม่ หลายคนอาจจะ ไม่ได้นึกถึงว่าอาการต่างๆ ที่ลูกกำลังเป็นอยู่ นี้แหละคือ อาการของเบาหวานในเด็กนั่นเอง 

อุบัติการณ์ ของเบาหวาน ทั้งในเด็ก แล ะในผู้ใหญ่นั้น เพิ่มมากขึ้นทุกปี ด้วยเหตุผลบางอย่าง ที่ทางการแพทย์ยังไม่เข้าใจแน่ชัด ว่าอะไรเป็นตัวการที่ทำให้มีคนไข้ เป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น 

ปัจจุบันนี้พบว่าปัจจัยเสี่ยงของการเกิดเบาหวาน มีทั้งด้านกรรมพันธุ์ และ ปัจจัยอื่นๆ ทั้งสภาพแวดล้อม และ วิธีการดำเนินชีวิต เช่น การรับประทานอาหาร, การได้รับสารพิษ, การติดเชื้อบางอย่าง โดยเฉพาะไวรัส และ การไม่ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 

โดยปกติร่างกายคนเรา จะมีการควบคุมระดับน้ำตาล ในกระแสเลือด และ มีการนำน้ำตาลกลูโคส ที่ได้จากการย่อยอาหารที่ทานเข้าไป นำไปใช้ เป็นพลังงาน ในเซลล์ต่างๆ โดยมีฮอร์โมน อินสุลิน ที่สร้างโดย เบต้าเซลล์ที่ตับอ่อน เป็นตัวหลักสำคัญในการควบคุมสมดุลของระดับน้ำตาลกลูโคส ในกระแสเลือดและการนำกลูโคส เข้าสู่เซลล์ 

ถ้าขาดอินสุลิน หรือ มีอินสุลินไม่พอที่เซลล์ต่างๆ จะใช้ในการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ ก็จะทำให้การทำงานของเซลล์ต่างๆในร่างกายแปรปรวน เกิดภาวะเป็นกรดขึ้นในร่างกาย และ มีสารคีโตน ซึ่งเป็นสารตัวกลางของการทำงาน ในเซลล์ สะสมในกระแสเลือดมากขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดที่ขึ้นสูง ทำให้เลือดข้นขึ้น การไหลเวียนของเลือด ก็เริ่มผิดปกติ ปัสสาวะจะออกมาก (ทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย) แต่ระดับน้ำตาลกลูโคสในเซลล์ต่างๆ กลับต่ำ ทำให้เซลล์ต่างๆ ส่งสัญญาณว่า ยัง “หิว” ทำให้คนไข้ ยังทานอาหารได้ตลอดเวลา, และ ดื่มน้ำมาก เพราะสูญเสียน้ำจากการที่ปัสสาวะออกมาก ซึ่งเป็นอาการเด่นของคนที่เป็นโรคเบาหวาน 

โรคเบาหวาน สามารถแบ่งออก เป็น 2 แบบ ตามที่คนทั่วไปรู้จักกันดี คือ 

1. โรคเบาหวานที่พบในเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ต้องพึ่งพาอินสุลินในการรักษา (insulin-dependent diabetes mellitus, type 1 diabetes) ต่างจากเบาหวานในผู้ใหญ่ บ้างพอสมควร เนื่องจาก เบาหวานในเด็ก มักจะเป็นชนิดที่เกิด จากการขาดอินสุลิน เพราะ เกิดการทำลายเบต้าเซลล์ ที่มีอยู่ในตับอ่อนที่ทำหน้าที่ สร้างอินสุลิน ทำให้ไม่สามารถสร้าง อินสุลินออกมา ให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย การรักษาจึงต้องทำการฉีดอินสุลินเพื่อช่วย ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ ใกล้เคียงสภาวะปกติ ไม่สามารถใช้ยาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ชนิดรับประทานได้ 

2. โรคเบาหวานที่พบในผู้ใหญ่ หรือ ที่เรียกกันว่า เบาหวานแบบที่ไม่ต้องพึ่งพาอินสุลิน (Non-insulin-dependent diabetes mellitus, NIDDM, type 2 diabetes) ส่วนใหญ่จะเกิด จากการที่เซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ไม่ตอบสนอง ต่ออินสุลินได้ดีเหมือนอย่างเคย มักจะพบ ในคนอายุ 40 ปี ขึ้นไป ที่ค่อนข้างอ้วน และการรักษาในรายที่เพิ่งเริ่มเป็น ก็จะใช้เพียง การปรับเปลี่ยนอาหาร และ ควบคุมน้ำหนัก และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเป็นมากขึ้น ก็อาจใช้ยาควบคุมระดับน้ำตาล ชนิดรับประทานได้ ยกเว้น ในบางรายที่มีระดับน้ำตาลค่อนข้างสูง ควบคุมยาก ก็อาจจะต้องอาศัยการฉีด อินสุลินร่วมด้วย 

อาการแสดงของโรคเบาหวาน ในเด็กก็มักจะแตกต่าง จากของผู้ใหญ่ เนื่องจากคุณพ่อ คุณแม่ หลายคนอาจจะคิดว่า เด็กไม่ป่วยเป็นเบาหวาน และอาการของเด็กที่เป็นเบาหวาน ก็มักจะไม่มีอาการจำเพาะที่แตกต่างเป็นพิเศษจากโรคที่พบบ่อยอื่นๆ ทำให้บางครั้ง ผู้ดูแลก็อาจจะไม่ทันได้นึกถึงว่าเด็กก็เป็นเบาหวานได้ 


คุณพ่อ คุณแม่จึงควรจะทำความรู้จักกับอาการแสดงของโรคเบาหวานในเด็ก และคอยสอดส่องดูว่าลูกจะมีอาการที่ชวนให้นึกถึงว่าจะเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ ดังนี้ คือ 

1. ลูกชอบดื่มน้ำมาก ถึงขั้น “ กระหายน้ำ ” บ่อยๆ, ปัสสาวะบ่อย, และ มี น้ำหนักตัวลดลง แม้ว่าดูเหมือน จะหิวบ่อย และ ทานอาหาร ได้ดี 
2. ควรนึกถึงโรคเบาหวานในเด็ก ในรายที่เคยควบคุมการปัสสาวะได้ดีแล้ว แต่กลับมาควบคุมการปัสสาวะไม่ได้อีก โดยเฉพาะการปัสสาวะรดที่นอนในเวลากลางคืนในเด็กโตที่เคย “ แห้ง ” ในเวลากลางคืนมานานแล้ว 
3. ในเด็กผู้หญิง บางครั้งอาจจะมีปัญหาการ ติดเชื้อรา ในบริเวณช่องคลอด, ขาหนีบ คัน หรือ มีตกขาวนิดหน่อย 
4. พบว่าอาการแรกของโรคเบาหวานในเด็ก ที่นำให้มาพบแพทย์ (พบประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยเบาหวาน ในเด็ก) ก็คือ อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดที่สูงมากในขนาดที่จะเป็นอันตราย และมีภาวะเป็นกรด และมีสารคีโตนคั่งในกระแสเลือดที่เรียกว่า diabetic ketoacidosis ซึ่งจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และ อาจมีไข้ร่วมด้วยทำให้อาจเข้าใจผิดว่าเด็กป่วย เป็นไข้หวัดใหญ่ หรือ ไส้ติ่งอักเสบ หรือ ไวรัสลงกระเพาะ ฯลฯ ในรายที่รุนแรงก็จะพบว่าเด็กจะเริ่มซึมลงมีการหายใจ หอบลึก จากภาวะเลือดเป็นกรดมากขึ้น และมีกลิ่นของลมหายใจ ที่เป็นกลิ่นลักษณะพิเศษ และถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องทันการณ์ก็จะหมดสติ (โคม่า) และเสียชีวิตได้ 

ถ้าคุณพ่อ คุณแม่ สงสัยว่าลูกอาจจะมีอาการของโรคเบาหวาน แพทย์สามารถทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อให้ทราบว่าลูกเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ โดยการตรวจปัสสาวะ และ/หรือ เลือด เพื่อดูระดับน้ำตาล และระดับของสารคีโตน ว่าสูงผิดปกติมากน้อยแค่ไหน และประเมินความรุนแรงของการดำเนินโรคในคนไข้รายที่มีภาวะ diabetic ketoacidosis ที่รุนแรงก็อาจจะต้องนำคนไข้เข้าดูแลอย่างใกล้ชิดในหอพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต (ไอ ซี ยู, ICU ) เพื่อจะได้ ติดตามการรักษาได้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีโอกาสเกิดผล แทรกซ้อนได้ง่าย จากโรคที่เป็นค่อนข้างรุนแรง

นพ.ประสงค์ พฤกษานานนท์
คลินิกเด็ก.คอม
ข้อมูลจาก : http://www.clinicdek.com/index.php?option=com_content&task=view&id=60&Itemid=1
Article Other
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
Sponsors
view all
Banner
view all