ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
Sponsors
view all
Banner
view all
Article
Share
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ-ไม่ควรทำ เมื่อลูกซนจนเจ็บตัว

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ-ไม่ควรทำ เมื่อลูกซนจนเจ็บตัว ในวันที่ลูกต้องเจ็บตัวเพราะความซนจากอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะวิ่งหกล้ม ชนเก้าอี้ หรือตกโต๊ะ วิธีการสอน หรือการปลอบของพ่อแม่แต่ละท่านย่อมแตกต่างกันไป บางคนใช้วิธีวิ่งเข้าไปโอ๋ บางคนตะโกนดุ หรือเอ็ดว่าเด็กต่าง ๆ นานา

ขณะที่บางคนอาจเมินเฉย และทำเป็นไม่สนใจลูกก็มี สรุปแล้ววิธีไหนควรทำ-ไม่ควรทำ วันนี้ ทีมงาน Life and Family มีแนวทางจาก ศ.ดร.นายแพทย์วิทยา นาควัชระ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัว สถาบันพัฒนาตนเอง และนักบริหาร คลินิกสุขภาพจิตมานำเสนอกัน

เมื่อพูดถึงเรื่องที่ลูกซนจนเจ็บตัว ไม่ว่าจะเจ็บด้วยอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเกิดในครอบครัวไทย จิตแพทย์ท่านนี้บอกว่า คงหนีไม่พ้นจะมีเหตุการณ์ดังนี้เกิดขึ้น คือ

- พ่อแม่ลุกขึ้นวิ่งไปโอ๋ ทำท่าตกอกตกใจปลอบเด็กมากมาย หรือทำหน้าตากังวล

- พ่อ หรือแม่คนใดคนหนึ่งอาจตะโกนดุ และเอ็ดลูกว่าซุ่มซ่าม เดินอย่างไรไปชนเก้าอี้ล้ม พ่อแม่จะนอน เดินระวังหน่อยซิ ซึ่งพ่อแม่ในกลุ่มนี้อาจจะนอน หรือลุกขึ้นดู และดุลูกด้วยความไม่พอใจ

- พ่อแม่บางท่านอาจลุกขึ้นมาพร้อมโทษโต๊ะ เก้าอี้ว่า ทำไมไม่หลบลูกฉัน มาเกะกะทำไม ทำให้ลูกฉันต้องชนเก้าอี้จนเจ็บตัว หรือไม่ก็หันไปทำเป็นตีเก้าอี้เหมือนเป็นการลงโทษ หรือหันไปโทษพี่เลี้ยงว่า หายไปไหนหมด ไม่ดูแลเด็กให้ดี

- หรือพ่อแม่บางคนไม่สนใจอะไรเลย

หลาย ๆ กรณีที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จิตแพทย์ท่านนี้ ได้ยกตัวอย่างวิดีโอการสอนเมื่อครั้งที่เรียนสาขากุมารศาสตร์ในสหรัฐอเมริกา โดยเนื้อเรื่องเปิดฉากด้วยเช้าวันหยุดที่พ่อแม่วัยหนุ่มสาวเริ่มต้นชีวิตด้วยการนอนอยู่บนเตียง มีลูกน้อยวัยประมาณ 2-3 ขวบ กำลังเดินซน ๆ ไปชนเก้าอี้ และของบนโต๊ะปลายเตียงล้มดังโครม พ่อแม่ตื่น และลุกขึ้น แทนที่จะเข้าไปโอ๋ ทำท่าตกอกตกใจ หรือดุลูก ตลอดจนโทษโต๊ะ โทษเก้าอี้ กลับลุกขึ้น หน้าตายิ้มแย้ม เดินมาดูลูก เห็นว่าลูกไม่บาดเจ็บอะไร และผู้เป็นพ่อพูดด้วยเสียงดังพร้อมรอยยิ้มว่า "ลุกขึ้นซิลูก เก่งมาก"

ตัวคุณพ่อในวิดีโอเรื่องนี้ พูดคำว่าเก่งมาก 2-3 ครั้ง ในขณะที่ลูกทำหน้าแหย ๆ ตอนแรก ๆ แล้วเปลี่ยนเป็นยิ้มหัวเราะและลุกขึ้นในที่สุด พ่อจึงพูดต่อไปว่า "ล้มแล้วลุกขึ้นได้นี่ เก่งมาก ดีมากนะลูก"

พ่อก็พูดต่อไปว่า "ไหนดูซิ เป็นอะไรบ้าง ไม่เจ็บมากใช่ไหม ไม่เป็นไรหรอก คราวนี้ถ้าจะเดินให้เดินดี ๆ นะ ไหน เก้าอี้มันล้มเกะกะใช่ไหม มาช่วยกันจัดให้มันเข้าที่ดี ๆ กันดีกว่า" ว่าแล้วพ่อกับลูกก็ช่วยกันเก็บเก้าอี้ และของที่ล้มให้อยู่ในระเบียบ โดยมีแม่ยืนยิ้มเชียร์อยู่ข้าง ๆ

พอจัดเสร็จ พ่อก็พูดว่า "เสร็จแล้ว เรียบร้อยแล้ว ทีหลังเดินระวังดี ๆ หน่อยนะลูก เจ้าไปเล่นได้แล้ว" ส่วนเด็กก็เดินไปเล่นอะไรต่อไป พ่อกับแม่ก็กลับไปนอนได้อีก

จากเรื่องดังกล่าว จิตแพทย์รายนี้ กำลังสะท้อนให้เห็นความแตกต่างว่า บ้านเราไม่ค่อยได้เห็นภาพความสัมพันธ์ การสั่งสอน หรือให้กำลังใจกันแบบนี้ในสังคมบ้านเรา ที่ให้กำลังใจแม้ในยามทำผิดแล้วหาเรื่องมาชมเชยให้เหมาะสม เช่น ล้มแล้วลุกขึ้น เก่งมากนะลูก ไม่ใช่ชมแบบเข้าข้างว่า ชนโต๊ะล้มแล้ว เก่งมากนะลูก ซึ่งไม่เป็นความจริง

แต่ส่วนใหญ่เวลาลูกทำอะไรผิดพลาด พ่อแม่จะปลอบ หรือช่วยโอ๋มากไป หรือบางคนก็ดุว่า โทษ โกรธ ประณาม หรือเมินเฉย ไม่ค่อยมีการเข้าไปพูดให้กำลังใจลูกเลยว่า ล้มแล้วลุกนะลูก เก่งมาก ดีมาก ๆ แล้วสอนหรือสาธิตให้จัดการกับข้อผิดพลาดอย่างง่าย ๆ โดยไม่บ่นว่า หรือตำหนิลูก

ด้วยแนวการสอนแบบนี้ เด็กจะเกิดกำลังใจ แม้ผิดพลาดก็กล้าทำใหม่ได้อีก เหมือนล้มแล้วก็ลุกขึ้นใหม่ได้อีกเสมอ แถมได้รับการชมเชยว่า เก่งมาก ดีมากด้วย ทำให้เด็กจะมั่นใจว่า พ่อแม่รักเขาจริง แม้ในยามทำผิดก็ยังรัก และมีวิธีแสดงความรักอย่างเหมาะสม ไม่มากเกินไป ไม่น้อยไป และไม่ผิดวิธี เด็กจึงแน่ใจว่า มีคนรักเขาจริง ทำให้เขาสามารถรักคนอื่นได้ เชื่อคนที่ควรเชื่อ มีความภูมิใจในตัวเองตามความเป็นจริง แม้จะทำผิดก็ยังภูมิใจได้ และจะเกิดกำลังใจทำใหม่ให้ดีขึ้น

เมื่อโตขึ้น ถ้าเด็กทำอะไรผิดพลาดในชีวิตอีก ก็จะลุกขึ้น และทำกิจกรรมใหม่ ๆ ได้ พร้อมทั้งได้ยินเสียงปลอบให้กำลังใจจากประสบการณ์ชีวิตว่า ล้มแล้วลุกขึ้นซิลูก เก่งมาก ดีมาก

กับความสำคัญนี้ "อี้-แทนคุณ จิตต์อิสระ" ได้ใช้วิธีเดียวกันในการสอน และปลอบลูกเมื่อซนจนเจ็บ เพราะเชื่อว่า จะทำให้ลูกเรียนรู้ถึงความเจ็บตามความเป็นจริง โดยอี้เล่าให้เราฟังว่า เวลาลูกเจ็บตัวจากความซน เขาจะพยายามสอนให้ลูกเรียนรู้ถึงความเจ็บ และปลอบลูกอย่างมีสติ เพราะไม่เช่นนั้น อาจเป็นการทำร้ายโดยไม่รู้ตัวได้

"เวลาลูกเจ็บไม่ควรบอกลูกว่า ไม่เป็นไร ๆ ไม่เจ็บ ๆ แต่ควรพูดกับลูกว่า เจ็บนะเดี๋ยวก็หาย แล้วมาเข้าสู่ขั้นตอนของการรักษาเบื้องต้นต่อไป เพราะถ้าปฏิเสธสิ่งที่ลูกเป็น หรือสิ่งที่ลูกกำลังเจ็บ ก็เท่ากับว่า ปฏิเสธตัวตนของลูกไปด้วย ดังนั้นควรสอนเขาด้วยเหตุผลของความเป็นผู้ใหญ่ในความเป็นเด็กว่าเจ็บเดี๋ยวก็หาย" พ่ออี้เผย

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ พ่อแม่หลายๆ ท่านคงจะทราบกันแล้วนะครับว่า เมื่อลูกซนจนเจ็บตัว การสอน หรือการปลอบแบบไหนสร้างสรรค์ และเหมาะสมกับเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากสอนผิดวิธี อาจเป็นการทำร้ายลูกทางอ้อมได้

ขอบคุณภาพประกอบจาก www.canada.com/health
บทความจาก www.manager.co.th
  
 ข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000175520
Article Other
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
Sponsors
view all
Banner
view all