2 เรื่องของเด็กเล็กที่ต้องระวังเมื่อถึงฤดูหนาว/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ลมหนาวมาแล้ว สัญญาณเตือนว่าฤดูหนาวกำลังย่างกรายมาเยือน อุณหภูมิเริ่มลดต่ำและความชื้นลดลงทำให้อากาศรอบตัวแห้งกว่าปกติ เป็นช่วงเวลาทองของบรรดาเชื้อไวรัสทั้งหลายที่เจริญเติบโตได้ดีในอากาศเย็น นั่นหมายความว่าเราต้องใส่ใจเรื่องสุขภาพกันให้มากแล้วล่ะค่ะ โดยเฉพาะในเด็กเล็กมักจะป่วยง่ายกว่าผู้ใหญ่ เพราะภูมิต้านทานที่น้อยกว่า ยิ่งช่วงที่ผ่านมา โรคไข้หวัดใหญ่ระบาดไปทั่ว เราจึงมักพบเห็นคนรอบข้างประสบปัญหาลูกป่วยกันเป็นทิวแถว และเมื่อลูกป่วย สมาชิกในบ้านก็พลอยป่วยตามไปด้วย ฉะนั้นช่วงนี้ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นไปอีก
จะว่าไปแล้ว เวลาเข้าสู่ฤดูหนาวมี 2 เรื่อง ที่หนักใจสำหรับคนเป็นพ่อแม่ที่มีลูกเล็กต้องตระหนักและหาทางป้องกันไว้ก่อนย่อมดีกว่า แล้วมีอะไรกันบ้าง
เรื่องแรก โรคภัยไข้เจ็บ
ไข้หวัด - เด็กเล็กกับไข้หวัดมักเป็นของคู่กันที่พ่อแม่ไม่อยากเจอจริงๆ ปกติไม่ใช่ฤดูหนาว ไข้หวัดก็มาเยือนอยู่แล้ว ฉะนั้น การป้องกันคือหนทางที่ดีที่สุด สมาชิกในบ้านต้องเข้มข้นในการหมั่นดูแลรักษาความสะอาดร่างกายอยู่เสมอ โดยเฉพาะมือ ซึ่งเป็นอวัยวะที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อโรคมากที่สุด ควรทำความสะอาดของเล่นและสิ่งของ เครื่องใช้ต่างๆ รวมทั้งบริเวณภายในบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ เวลาสมาชิกในบ้านเป็นหวัดก็ไม่ควรเข้าใกล้ หรือคลุกคลีกับเด็ก หรือเวลาไอ จาม ก็ควรปิดปากและล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง รวมไปถึงเรื่องอาหารการกินมีส่วนสำคัญมาก พยายามกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะและให้ครบทั้ง 5 หมู่
แต่ถ้าลูกเริ่มป่วย อาจมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ไอ ควรดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องให้นอนพักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำบ่อย ๆ ถ้าตัวร้อนควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หรือกินยาลดไข้ อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 2-7 วัน แต่หากมีอาการไอมากขึ้น หรือมีไข้สูงนานเกิน 2 วัน ควรไปพบแพทย์ทันที
อย่าลืมว่า ถ้าผู้ใหญ่ปฏิบัติตัวอย่างถูกวิธีเป็นประจำ และทำให้เด็กเห็น เขาก็จะเรียนรู้ด้วยว่าเวลามีอาการเหล่านี้เขาควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรด้วย
ท้องร่วง - ในช่วงหน้าหนาวจะมีเชื้อโรคไวรัสบางชนิดที่ก่อให้เกิดโรคท้องร่วงในเด็กเล็ก ที่พบมาก คือโรตาไวรัส มักพบในเด็กอายุตั้งแต่ 3 เดือน -2 ปี ติดต่อโดยการดื่มหรือกินอาหารที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนเข้าไป ทำให้เด็กถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ หรือถ่ายเหลวบ่อยครั้ง หากพบเด็กถ่ายเหลว ควรให้เด็กกินอาหารเหลวบ่อย ๆ เช่น น้ำแกงจืด น้ำข้าว เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กขาดน้ำเฉียบพลัน กรณีที่เด็กยังกินนมแม่อยู่ก็สามารถกินต่อไปได้ แต่ถ้าเด็กที่กินนมผสม ควรผสมนมให้เจือจางลงครึ่งหนึ่งจนกว่าอาการจะดีขึ้น หากยังถ่ายบ่อยให้ผสมสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ให้ดื่มบ่อย ๆ อาการจะกลับเป็นปกติได้ภายใน 8-12 ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้นต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
นอกจากนี้ ยังมีโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ เช่น โรคหัด ปอดบวม อีสุกอีใส ฯลฯ ที่ต้องใส่ใจและระมัดระวังเป็นพิเศษ
เรื่องที่สอง ผิวพรรณ
เมื่ออุณหภูมิและความชุ่มชื้นลดลงทำให้อากาศแห้ง ซึ่งทำให้ผิวหนังแห้งตามไปด้วย ส่วนจะแห้งมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และสภาพร่างกายของเด็กแต่ละคน เด็กที่มีผิวแห้งอยู่แล้ว เมื่อถึงหน้าหนาวแน่นอนว่าผิว จะยิ่งแห้งมากกว่าเด็กคนอื่น หรือเด็กบางคนที่เป็นภูมิแพ้ที่ผิวหนังอยู่แล้ว ก็อาจจะทำให้อาการของโรคเพิ่มมากขึ้นได้ในช่วงนี้ ฉะนั้น ช่วงนี้พยายามหลีกเลี่ยงการนอนในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศด้วย
ในช่วงอากาศที่หนาวเย็น คุณไม่จำเป็นต้องอาบน้ำให้ลูกบ่อย เพราะการอาบน้ำบ่อยจะทำให้ความชุ่มชื้นของผิวลดลง ถ้าลูกอยู่ในวัยเด็กเล็กควรอาบน้ำให้ลูกวันละ 1 ครั้งก็พอ แต่ถ้าเด็กโตที่วิ่งเล่นนอกบ้านก็มีความจำเป็นจะต้องอาบวันละสองครั้ง แต่ก็ไม่ควรอาบน้ำที่ร้อนเกินไป คุณพ่อคุณแม่อาจผสมเบบี้ออยล์เล็กน้อยในน้ำด้วยก็ได้ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับสภาพผิวของลูก หรือใช้เฉพาะผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก และอย่าเช็ด ถู เพื่อทำความสะอาดผิวแรงเกินไป เพราะจะเป็นการชะล้างไขมันและสารให้ความชุ่มชื้นออกไป ทำให้เกิดการสูญเสียน้ำ ผิวลูกจึงแห้ง เกิดการระคายเคืองได้เช่นกัน
ภายหลังอาบน้ำ ควรใช้ครีมหรือโลชั่นบำรุงผิวสำหรับเด็กทาบางๆ โดยเลือกครีมทาผิวชนิดที่ลูกใช้แล้วไม่แพ้ และให้ลูกได้สวมใส่เสื้อผ้าที่อบอุ่น เพื่อช่วยลดการสูญเสียน้ำจากผิว
ที่สำคัญควรหมั่นให้ลูกดื่มน้ำอุ่น โดยใช้วิธีจิบน้ำบ่อยๆ เพื่อช่วยให้ร่างกายชุ่มชื่นอยู่ตลอดเวลา และเลือกกินอาหารที่มีส่วนช่วยให้ผิวชุ่มชื่นได้ เช่น อาหารประเภทไขมัน ควรงดอาหารที่มีรสเค็ม เพราะทำให้สูญเสียน้ำในร่างกาย
ไม่ใช่เรื่องยากในการดูแลลูกเล็กในช่วงหน้าหนาว เพียงแต่ปีนี้ มีเรื่องน้ำท่วมด้วย ทำให้ต้องเพิ่มเรื่องการดูแลโรคภัยที่มาจากน้ำด้วย ประกอบกับมีการคาดการณ์ว่าปีนี้อากาศจะหนาวมากและนานกว่าทุกปี คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเตรียมรับมือให้พร้อมแต่เนิ่นๆ
และ..ต้องไม่ลืมที่จะดูแลตัวเองก่อน เพราะคุณคือคนที่ต้องดูแลปกป้องลูก..เรียกว่าป่วยไม่ได้ค่ะ
ข้อมูลจาก :
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000153820