ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
Sponsors
view all
Banner
view all
Article
Share
หนูอายจัง…ทำยังไงดี/ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

หนูอายจัง…ทำยังไงดี / ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ มีเด็กหลายคนที่ขี้อาย ซึ่งอาการขี้อายของเด็กนั้นไม่ใช่สิ่งผิดปกติ แต่การปล่อยให้ลูกขี้อายอาจทำให้ลูกสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างรอบๆตัว ดังนั้นผู้ปกครองจึงต้องพยายามหาวิธีการเพื่อช่วยเด็กที่ขี้อายให้มีความกล้าในการเผชิญสิ่งต่างๆได้ เทคนิคในการช่วยเด็กขี้อายมีดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้สาเหตุว่าทำไมลูกถึงมีพฤติกรรมขี้อาย

คอยสังเกตว่าเหตุการณ์ใดทำให้ลูกอาย เช่น อายเมื่อพูดกับคนที่ไม่คุ้นเคย อายเมื่อเวลาที่ต้องเข้ากลุ่มใหญ่ หรืออายเมื่อเวลาที่ต้องแสดงออก หากทราบถึงสาเหตุแล้วเราก็สามารถแก้ไขที่ต้นเหตุได้ เด็กส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการขี้อาย เมื่ออายุประมาณ 2- 3 ขวบ บางคนอาจเลยไปจนถึง 6 ขวบก็มี และจะค่อยๆ หายไป อาจมีบางส่วนที่อาจติดตัวไปจนถึงวัยรุ่น ทำให้สูญเสียโอกาสดีๆ ในชีวิตมากมาย

เด็กบางคนอาจเป็นมากกว่าอาการขี้อายธรรมดา เช่น มีอาการของออติสติก (Autism) หรือแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger 's Syndrome) คือมีความบกพร่องในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ภาวะวิตกกังวล ( Anxiety) หรืออาจจะเป็นเด็กที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้ (Learning Disability) ดังนั้นการรู้ถึงสาเหตุจะช่วยในการแก้ปัญหาได้ตรงจุดและทันท่วงที

ขั้นตอนที่ 2 วิธีการช่วยเหลือสำหรับเด็กขี้อาย

- เป็นตัวอย่างที่ดี ต้องยอมรับว่าเด็กเรียนรู้โดยการดูตัวอย่างและทำตาม การที่คุณพ่อคุณแม่แสดงความเป็นมิตร และทักทายผู้อยู่รอบข้างอย่างเป็นธรรมชาติในการการวางตัวกับผู้ใหญ่ คนแปลกหน้า เพื่อนและสมาชิกในครอบครัว การแสดงสัมมาคารวะ นอกจากนี้แล้วยังรวมถึง คำพูดและการกระทำที่ถูกกาลเทศะ ไม่หลบหลู่ดูหมิ่นผู้อื่นทั้งต่อหน้าและลับหลัง ให้เกียรติผู้อื่น ทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ อย่าพูดว่าลูกขี้อาย และไม่ตอกย้ำปมด้อยของลูกบ่อยๆ ต่อหน้าคนอื่น เด็กเล็กๆ เรียนรู้แล้วว่าสิ่งนั้นหมายความว่าอย่างไรและจะยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นของเด็กหายไปมากขึ้นด้วย อย่าลืมว่าดวงตาเล็กๆ กำลังมองดูและจดจำทุกอย่างอยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านั้นจะถูกถ่ายทอดสู่สมองและแสดงออกเป็นพฤติกรรม ดังนั้นพยายามอย่าใส่ข้อมูลที่ไม่ดีและผิดพลาดให้แก่ลูกค่ะ

- พยายามให้ลูกเข้าสังคมตั้งแต่เนิ่นๆ การเปิดโอกาสให้ลูกได้ปรับตัวและเข้าสังคมซึ่งยิ่งเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งสามารถช่วยลูกให้มีความกล้าในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้มากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นพยายามให้ลูกพบปะผู้คน เล่นกับเด็กอื่นในวัยเดียวกันและต่างวัย ยิ่งถ้าเป็นลูกคนเดียวต้องพยายามให้ลูกมีสังคม เริ่มโดยการฝึกง่ายๆ ที่บ้านก่อน เช่นแนะนำให้รู้จักคนอื่น การสวัสดี ทักทาย หาน้ำมาต้อนรับแขก

- ช่วยลูกให้เรียนรู้ถึงการให้เกียรติผู้อื่น อย่าดุด่าว่ากล่าวลูกถึงความขี้อาย แสดงท่าทีทางลบต่อความขี้อายนั้น หรือแม้แต่แสดงการดูถูกผู้อื่นทั้งต่อหน้าและลับหลัง หยุดการวิพากษ์วิจารณ์ต่อหน้าเด็ก เพราะจะยิ่งเพิ่มอาการขี้อายต่อเด็กมากขึ้น ผู้คนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน สอนให้ลูกรู้ว่าทุกคนเป็นคนพิเศษ และมีความแตกต่างกัน ไม่มีใครเป็นคนสมบูรณ์แบบ การสอนให้ลูกให้เกียรติ ยอมรับทั้งตัวเองและผู้อื่นจะทำให้ลูกปรับตัวได้ง่ายขึ้น

- อย่าบังคับให้เด็กแสดงความกล้าเมื่อเขายังไม่พร้อม หากเป็นเด็กเล็กให้อุ้มลูกไว้ อย่ายัดเยียดให้คนแปลกหน้าอุ้มจนกระทั่งแน่ใจว่าเด็กรู้สึกปลอดภัย (Sense of Security) พยายามให้ลูกเข้าร่วมกิจกรรมกับคนอื่นเท่าที่จะเป็นได้ เพื่อให้เด็กสังเกตว่าคนอื่นทำอะไร อย่าแยกเด็กออกจากผู้อื่น เมื่อลูกที่ขี้อายเริ่มเล่นกับเพื่อนได้แล้วควรเสริมแรงโดยการชมเชยลูกทุกครั้งที่ลูกสามารถปรับตัวเข้ากับกับผู้อื่นได้ดีขึ้น

- ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหากลูกมีอาการผิดปกติที่มากกว่าการขี้อายธรรมดา เช่น เป็นเด็กพิเศษที่มีอาการชอบแยกตัว ชอบอยู่โดดเดี่ยว เด็กบางคนอาจมีปัญหาการปรับตัวในการเข้าสังคม มีภาวะเครียด รู้สึกโดดเดี่ยวว้าเหว่ ดังนั้นหากลูกมีอาการดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที

จะเห็นได้ว่าการแก้ไขพฤติกรรมของลูกที่มีพฤติกรรมขี้อายนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องมีความอดทนในการค่อยๆ แก้ไขพฤติกรรมนี้ให้หายไป ซึ่งจากสิ่งที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปนั้น เชื่อว่าเป็นวิธีที่ทำได้ไม่ยากเลย ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ต้องค่อยๆ ทำอย่างเป็นขั้นตอนด้วยความรักและความเข้าใจค่ะ

ข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000084628
Article Other
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
Sponsors
view all
Banner
view all