ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
Sponsors
view all
Banner
view all
Article
Share
เคล็ดวิธีฝึก "กิจวัตรประจำวัน" ให้ลูก (คนพิเศษ)

เคล็ดวิธีฝึก "กิจวัตรประจำวัน" ให้ลูก (คนพิเศษ) นับเป็นความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ของพ่อแม่ที่มีลูกเป็น "เด็กพิเศษ" ที่จะต้องให้ความสำคัญกับลูกเสมือนเป็นคนพิเศษ โดยเฉพาะความรัก และความเอาใจใส่ แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งหนึ่งที่พ่อแม่จะละเลยเสียไม่ได้ ก็คือ ทักษะการทำกิจวัตรประจำวันที่ลูกจะต้องช่วยเหลือตัวเองได้ในเบื้องต้น เช่น การแต่งตัว รับประทานอาหาร รวมไปถึงการฝึกขับถ่าย เพื่อที่จะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

กับเรื่องนี้ "คุณวราภรณ์ ส่ำสมบูรณ์ชัย" นักกิจกรรมบำบัด โรงพยาบาลปทุมธานี บอกกับทีมงาน Life and Family ว่า การฝึกกิจวัตรประจำวันให้ลูกที่เป็นเด็กพิเศษ ถือเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะก่อนเข้าโรงเรียน เนื่องจากบางโรงเรียน การจะรับเด็ก 1 คน จะพิจารณาในเรื่องการช่วยเหลือตัวเองเป็นหลัก

ดังนั้น ก่อนการฝึก พ่อแม่ต้องกำหนดเป้าหมายก่อนว่า จะฝึกอะไรให้กับลูกบ้าง เช่น ฝึกใส่เสื้อผ้า โดยเริ่มต้นจาก รู้จักอวัยวะของตัวเอง รู้จักเสื้อ กางเกง กระโปรง ประโยชน์ วิธีใช้ รวมไปถึงรู้ขั้นตอนการใส่ จากนั้นให้พ่อแม่กำหนดวิธีการฝึก เช่น สอนให้ลูกรู้จักอวัยวะของตัวเอง ด้วยการร้องเพลง ชี้อวัยวะตามคำบอก หรือต่อจิ๊กซอร์ภาพคน/อวัยวะ โดยกำหนดเวลาฝึกให้ชัดเจน เช่น รอบละกี่นาที เช้า กลางวัน หรือเย็น เป็นต้น

"เด็กบางคนเวลาฝึกอาจทำได้ดี ขณะที่บางคนอาจหลงลืมขั้นตอนบางอย่างไป เช่น ใส่เสื้อ ใส่กางเกงแล้ว ลืมใส่ถุงเท้า วิธีที่พ่อแม่ช่วยได้ก็คือ ทำแผนภาพขั้นตอนการแต่งตัวให้ลูกเป็นขั้นตอนไป เช่น 1.สวมเสื้อ 2.สวมกางเกง 3.สวมกางเกงใน 4.สวมถุงเท้า 5.สวมรองเท้า โดยทำติดผนังให้ลูกดู และชี้แนะไปพร้อมๆ กัน" นักกิจกรรมบำบัดให้คำแนะนำ

หยิบ-ตัก-ถือ-กิน-เก็บ ฝึกกันได้

การฝึกรับประทานอาหาร เมื่อลูกอายุ 1 ขวบครึ่ง พ่อแม่ต้องเริ่มสอนให้ลูกเริ่มจับช้อนตักอาหารเข้าปาก ไม่ใช่ป้อนให้ลูกไปตลอด เพราะจะทำให้เด็กชิน และกินอาหารด้วยตัวเองไม่เป็น ถึงกระนั้น พอลูกย่างเข้า 2 ขวบ หรือก่อนเข้าโรงเรียน พ่อแม่ควรแบ่งเป็นกิจกรรมย่อยๆ ให้ลูก

เช่น ฝึกให้เดินไปหยิบจาน ช้อน ตักข้าว ถือจานไปที่โต๊ะ กินข้าว และเก็บจาน โดยอาจจะทำเป็นตารางบันทึกไว้ด้วยก็ได้ เช่น ลูกเดินไปหยิบจาน ทำได้อย่างไร ทำไม่ได้อย่างไร วิธีการแก้ไข คืออะไร เป็นต้น เพื่อที่จะได้สังเกตพัฒนาการของลูกได้อย่างชัดเจน

ฝึกขับถ่าย เรื่องเล็กที่ไม่เล็ก

สำหรับเรื่องการขับถ่าย ที่ถึงแม้จะเป็นเรื่องเล็ก แต่คุณวราภรณ์ บอกว่า ถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่เด็กพิเศษทุกคน จะต้องรู้จักควบคุมให้เป็น โดยมีขั้นตอนฝึกคือ เมื่อลูกเข้าสู่อายุ 1 ขวบครึ่งถึง 2 ขวบ คุณพ่อคุณแม่ ควรฝึกให้ลูกเริ่มหัดนั่งกระโถน หรือชักโครกได้แล้ว โดยให้เท้าของเด็กวางติดพื้น ทั้งนี้เพื่อที่เด็กจะได้รู้สึกมั่นใจ และปลอดภัย ซึ่งหากลูกไม่ยอมนั่ง พ่อแม่ไม่ควรดุ ตี หรีอกดตัวลูก ให้นั่งลง นั่นจะส่งผลให้เด็กจำเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดี และไม่อยากนั่งอีกต่อไป ทางที่ดี ควรหาของเล่นมาดึงดูดความสนใจแทน

ถ้าลูกไม่รู้สึกอยากถ่าย ให้ใช้ยาเหน็บที่ทำด้วยกลีเซอรีน เด็กจะเกิดความรู้สึกอยากถ่าย จากนั้นควรสอนให้ลูกรู้ว่า "เมื่อเกิดอาการแบบนี้ ให้ไปห้องน้ำนะ" ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้พ่อแม่ใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป เพราะจะทำให้เกิดการอับชื้นจนทำให้ผิวหนังแพ้ได้ ที่สำคัญ ส่งผลเสียต่อตัวเด็ก เพราะเด็กจะไม่รู้จักการควบคุมในเวลาปวด เกิดปัญหาการเข้าสังคมนอกบ้านได้

"เมื่อเด็กนั่งกระโถน และบอกความต้องการว่าจะไปห้องน้ำได้แล้ว ขั้นต่อมาให้สอนการถอดกางเกง กางเกงใน การเช็ด หรือการล้าง ถ้าลูกเช็ดไม่เป็น พ่อแม่ควรฝึกลูกให้ก้มหยิบของใต้เก้าอี้แทน เมื่อลูกทำได้ดีแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่ดีที่สุดก็ตาม พ่อแม่ควรให้กำลังใจด้วยการชม กอด หอมแก้มลูก เพื่อที่ลูกจะได้เกิดความรู้สึกมั่นใจ และรู้สึกว่า ตัวเขาทำได้ เสริมพลังพยายามให้เขาทำได้ดียิ่งขึ้นในครั้งต่อไป" นักกิจกรรมบำบัดแนะนำ

การฝึกกิจวัตรประจำวันให้ลูกคนพิเศษในเบื้องต้น "คุณวราภรณ์" ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า กิจกรรมการฝึก ควรเป็นกิจกรรมที่ทุกคนในครอบครัวมีส่วนช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ หรือคุณแม่ ซึ่งไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่ควรจะกำหนดเป้าหมาย วางแผนกิจกรรม เพื่อจะได้นำไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน ถึงแม้จะต้องใช้ความอดทน และความพยายามอยู่หลายครั้ง หลายหนก็ตาม แต่ขอให้คิดอยู่เสมอว่า สิ่งที่ทำ คือประโยชน์ที่ลูกได้รับ เพื่อที่วันหนึ่ง ลูกจะสามารถอยู่ได้ โดยที่ไม่มีพ่อแม่คอยช่วยเหลือ


  
 ข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000033232
Article Other
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
Sponsors
view all
Banner
view all