ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
Sponsors
view all
Banner
view all
Article
Share
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ "โอ๋-อวดลูก"

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ "โอ๋-อวดลูก" เคยพบเหตุการณ์เช่นนี้ในชีวิตกันบ้างไหมคะ กับการพาลูก ๆ ออกมาเจอสังคมภายนอกเพื่อให้ลูกได้พบปะกับเพื่อน ๆ วัยเดียวกัน แล้วก็พบว่ามีคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่น ๆ เข้ามาชวนคุย ไป ๆ มา ๆ กลายเป็นการเปรียบเทียบ วิพากษ์วิจารณ์ หรือให้คำแนะนำในสิ่งที่คุณและครอบครัวไม่อยากจะได้ยิน ได้ฟัง รวมถึงการ "อวดลูก"

เชื่อแน่ว่ามีหลายท่านที่ต้องพบกับเหตุการณ์น่ากระอักกระอ่วนใจดังกล่าว ซึ่งในปัจจุบัน อาจเริ่มตั้งแต่ตอนที่ลูกยังเล็กกันเลยเดียว กับการเปรียบเทียบพัฒนาการว่าลูกของใครจะเร็วกว่ากัน ทำไมลูกของอีกคนหนึ่งเร็วกว่า เด็กที่มีพัฒนาการช้ากว่าจะเป็นอะไรไหม ฯลฯ ไล่ไปจนถึงลูกเข้าโรงเรียน ได้เกรดอะไร ชอบวิชาไหน ทำกิจกรรม-เรียนพิเศษอะไรบ้าง เรียกได้ว่า หากมีการเปิดประเด็นเรื่องลูก พ่อแม่ส่วนมากก็พร้อมใจจะแสดงความคิดเห็น รวมถึงนำพัฒนาการของลูกตนมาเปรียบเทียบกับลูกของคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ที่มีลูกเรียนในโรงเรียนชื่อดังยิ่งมีโอกาสพบกับเหตุการณ์ดังกล่าวสูง ซึ่งในกรณีนี้ "ดร.จิตรา ดุษฎีเมธา" ประธานโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ให้ความเห็นว่า

"ปัจจุบัน ยุคสมัยเปลี่ยนไป พ่อแม่หลายคนเลี้ยงลูกโดยให้ลูกเป็นตัวอุ้มชูหน้าตาพ่อแม่ ใช้ลูกเป็นเครื่องมือให้พ่อแม่เกิดความภาคภูมิใจ โดยอาจมีปมมาตั้งแต่วัยเด็กว่าตนเองเคยเสียหน้า เสียภาพพจน์มาก่อน เพื่อให้เกิดการยอมรับว่าตนเองนั้นเลี้ยงลูกดี ไม่ให้ใครมานินทาได้ ก็ใช้วิธีอวดลูกขึ้นมากลบทับปมในวัยเด็ก"

"อีกกรณีหนึ่งคือ เป็นการเลี้ยงเพื่อชดเชยความต้องการของพ่อแม่ที่ขาดหายไปในวัยเด็ก พ่อแม่บางคนไม่ได้เรียนเปียโน ไม่ได้เรียนพิเศษ ไม่ได้เรียนว่ายน้ำ พอมีลูกก็ส่งลูกเรียนทุกอย่าง ในส่วนนี้ หากพ่อแม่มีเวลามาวิเคราะห์ตัวเองบ้าง คงได้ถามตัวเองว่า มันมากไปหรือเปล่าสำหรับลูก เพราะถึงจุด ๆ หนึ่ง เด็กกลุ่มนี้เขาอาจจะปฏิเสธ ต่อต้านความต้องการของพ่อแม่ทุกวิถีทางก็เป็นได้"

โอ๋ลูกเกินจำเป็น
นอกจากการอวดลูก ๆ กับคนรอบข้างแล้ว ประเด็นเรื่องการโอ๋ลูกจนเกินพอดีก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะมีพ่อแม่ไม่น้อยที่ไม่สามารถยอมรับได้ว่า การกระทำของลูกนั้นผิด ไม่เหมาะสม หรือไม่ถูกกาลเทศะ เมื่อเด็กทำลงไป ก็พร้อมที่จะเข้ามา "โอ๋" จนเด็กเกิดความสับสน

"ในประเด็นของการโอ๋ลูก ก็เป็นเพราะยุคสมัยอีกเช่นกัน เหตุที่ทำให้พ่อแม่โอ๋ลูก ปกป้องลูกมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความกลัวว่าลูกจะไม่รักตัวเอง นักจิตวิทยาบอกว่าเป็นการสะท้อนตัวตนในสมัยอดีตของพ่อแม่เอง ที่พ่อแม่ไม่รักเรา บ้านไม่อบอุ่น เลยกลายเป็นแรงบันดาลใจกับลูกว่าวันหนึ่งมีลูกจะไม่ทำแบบนี้กับลูก ลูกต้องไม่เจ็บปวดอย่างที่ฉันเป็น"

การกระทำดังกล่าว นอกจากจะเป็นการทำเพื่อชดเชยความรู้สึกในวัยเด็กของพ่อแม่ส่วนหนึ่งแล้ว พ่อแม่กลุ่มนี้ยังอาจแสดงต่อหน้าคนอื่นเพื่อปกป้องลูกว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ฝีมือลูกของตนเองเสียอีก


แล้วจะสะกิดพ่อแม่สองกลุ่มนี้ได้อย่างไร?

"สะกิดยาก เพราะเป็นความกลัวจากการเลี้ยงลูก ต้องถามพ่อแม่ว่าเราต้องการอะไรในตัวลูก ไม่ใช่บอกว่า อยากให้ลูกเป็นคนดีอย่างเดียว ต้องถามว่าอยากให้เขาเอาตัวรอดในสังคมหรือเปล่า ถ้าทำตรงนี้ได้ ตัวพ่อแม่ต้องเพิ่มคุณค่าในตัวเอง ต้องมีวิถีของตัวเอง อย่าแสวงหาคุณค่าจากลูกมาเติมเต็มแต่เพียงอย่างเดียว" ดร.จิตราให้ความเห็น

การเพิ่มคุณค่าในตัวเองของพ่อแม่อาจทำได้หลายวิธี เช่น การพาครอบครัวเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์ สอนให้ลูกมองเห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกัน และเห็นคุณค่าของความแตกต่างกัน นอกจากนั้น การชี้ให้เห็นถึงจุดที่ต้องปรับปรุงอย่างสร้างสรรค์ ก็เป็นหน้าที่ของคนรอบข้างด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจารย์รวิวรรณ สารกิจปรีชา ในฐานะนักวิชาการที่คร่ำหวอดในวงการเด็กได้ให้เทคนิคเพิ่มเติมด้วยว่า

"การบริหารจัดการเด็กและพ่อแม่ เป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว ต้องค่อย ๆ ให้ข้อมูลกับพ่อแม่ว่าเด็กเป็นอย่างนี้ ๆ อาจต้องมีหลักฐานให้ดูด้วย การคุยควรใช้ประโยคในทางสร้างสรรค์ คิดในแง่บวกเอาไว้ก่อน เช่น ทันทีที่พ่อแม่เขาปกป้องลูกตนเอง ตอนนั้นหากคนรอบข้างพูดไป ยังไงเขาก็ไม่ฟังเรา ควรปล่อยไปสักพักก่อน แล้วค่อยมาคุยกันใหม่ โดยอาจเริ่มจากให้ข้อมูลกับพ่อแม่ทีละน้อยว่า เด็กมีพฤติกรรมอย่างนี้นะคะ มีหลักฐานให้เขาเห็น แล้วก็ต้องบอกด้วยว่าไม่ใช่ว่าลูกคุณเป็นเด็กไม่ดีนะ แต่จะดีกว่าไหมหากลองทำแบบนี้ มันจะช่วยให้ลูกคุณดีขึ้น ทุกอย่างมันปรับได้ค่ะ อย่าไปหวังผลว่าจะเกิดขึ้นในวันเดียวก็พอ"

ถ้าพ่อแม่เปิดใจซึ่งกันและกัน การจะร่วมมือกัน สร้างเด็ก ๆ ให้เป็นเด็กดีก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถค่ะ

ที่มา: หนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการ
ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/node/14250
Article Other
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
Sponsors
view all
Banner
view all