ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
Sponsors
view all
Banner
view all
Article
Share
เมื่อพ่อแม่ทำร้ายลูกด้วยมือถือ

เมื่อพ่อแม่ทำร้ายลูกด้วยมือถือ สัปดาห์ก่อนเจอเด็กน้อยวัยไม่น่าจะเกิน 4 ขวบ กำลังอยู่ในวัยน่ารักทีเดียว หนูน้อยกำลังนั่งคุยโทรศัพท์มือถืออยู่ข้างๆ คุณแม่ ทีแรกดิฉันก็ไม่ได้สนใจ เพราะก็พบเห็นเหตุการณ์นี้อยู่บ่อยๆ แต่ที่ต้องหยุดสายตานานและเริ่มสนใจเป็นเรื่องเป็นราว ก็เนื่องเพราะเด็กน้อยคนนั้นใช้เวลาคุยโทรศัพท์มือถือนานเกือบครึ่งชั่วโมง

ในขณะที่คุณแม่นั่งอยู่ข้างๆ แต่ก็ปล่อยให้หนูน้อยคุยโทรศัพท์ต่อไป และต่อไป...

เรื่องเด็กเล็กกับการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเรื่องที่ดิฉันค่อนข้างระมัดระวัง และมักหงุดหงิด เวลาเห็นเด็กน้อยตัวเล็กๆ มีเหตุต้องใช้โทรศัพท์มือถือ ถ้าเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็ยังพอรับได้ แต่ถึงขนาดต้องพูดกันนานๆ ก็ไม่ควรแล้วล่ะค่ะ

ลำพังเราเป็นผู้ใหญ่ใช้โทรศัพท์มือถือก็รู้อยู่ว่า เวลาคุยนานๆ โทรศัพท์ก็ร้อน ยิ่งนานยิ่งร้อน แม้จะมีนักวิจัย นักวิชาการจากหลากหลายสำนักออกมาเตือนเรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือนานๆ เป็นอันตราย แต่ก็ดูจะสวนทางกับพฤติกรรมของผู้บริโภคจากทั่วโลก

โทรศัพท์มือถือก็ยังคงขายดี และแนวโน้มก็ขายดีอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าผู้บริโภคไม่สามารถวิ่งตามเทคโนโลยีทีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วได้

และ...ก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดคนเราต้องวิ่งไล่ตามเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือได้มากมายขนาดนั้น

คนรุ่นปู่ย่าตายายหรือพ่อแม่เรา เมื่อก่อนก็ปฏิเสธโทรศัพท์มือถือ เพราะไม่คิดว่าจะต้องมีความจำเป็นมากมายขนาดนั้น ใช้โทรศัพท์บ้านก็ได้

แต่เดี๋ยวนี้ คนรุ่นนี้ก็มีไม่น้อยที่หันมาใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะลูกหลานเป็นคนซื้อให้ ด้วยเหตุผลอยากให้สะดวกสบาย อยากตามตัวได้ทันท่วงที เพราะเป็นห่วงเป็นใย และด้วยเหตุผลอีกสารพัด ฯลฯ

จนกระทั่งมาถึงกลุ่มเด็กน้อย ที่สุดท้ายคนเป็นพ่อแม่ก็เป็นผู้หยิบยื่นให้ ...!!!

เมื่อก่อนเรื่องเด็กประถมใช้โทรศัพท์มือถือก็ยังน้อยอยู่ แต่เดี๋ยวนี้ แทบจะกลายเป็นเรื่องปกติของพ่อแม่ชนชั้นกลางขึ้นไป ด้วยเหตุผลในการรับส่งลูกเวลาไปกลับโรงเรียนจะได้สะดวก และเหตุผลอื่นๆ อีกมากมาย

ทั้งที่จะว่าไปแล้วนอกจากข้อดีในเรื่องความสะดวก กลับไม่ได้ถูกคำนึงถึงผลเสียที่ตามมาอีกมากมายที่ตามมากับลูกหลานของเรา

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ( World Health Organization) ได้เตือนถึงการใช้โทรศัพท์มือถือในเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ว่าต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะเด็กไม่ควรได้รับรังสีสะสมปริมาณมากๆ ในร่างกาย เนื่องเพราะเซลล์ในร่างกายยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ อีกทั้งเด็กยังมีความไวต่อรังสีทุกชนิด จึงมีโอกาสได้รับรังสีสะสมสูง จนอาจทำให้เกิดเซลล์กลายพันธุ์ได้มากกว่าผู้ใหญ่

แล้วเจ้ารังสีจากโทรศัพท์มือถือ ก็คือ รังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นรังสีที่อาจทำให้ดีเอ็นเอของเซลล์ เกิดการบาดเจ็บเสียหาย เพราะเป็นรังสีที่จัดอยู่ในประเภทเดียวกับรังสีคลื่นวิทยุ รังสีจากความร้อน และรังสีจากเตาไมโครเวฟ

เมื่อเซลล์ได้รับรังสีไม่ว่าจะเป็นรังสีประเภทใด ในปริมาณที่มาก เป็นระยะเวลานาน จะทำให้เซลล์เกิดการบาดเจ็บเสียหาย ถ้าร่างกายซ่อมแซมให้เป็นปกติไม่ได้ จะเกิดการกลายพันธุ์เป็นเซลล์เนื้องอก หรือเซลล์มะเร็งได้ โดยเฉพาะบริเวณที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น เนื้องอกของประสาทหู ประสาทตา ลูกตา ต่อมน้ำลายบริเวณหน้าหู และสมอง

ถึงแม้ว่าจนถึงขณะนี้จะยังไม่มีหลักฐานการยืนยันที่แน่ชัด เกี่ยวกับโรคที่อาจเกิดขึ้น แต่ก็มีรายงานว่า การใช้โทรศัพท์มือถือนานๆ บ่อยๆ ทำให้มีโอกาสเกิดอาการปวดศีรษะ มึนงง เพลีย นอนไม่หลับ ใจสั่น

ก่อนหน้านี้ก็มีนักวิจัยและนักวิชาการจากหลายประเทศออกมาเตือนถึงเรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือในเด็ก ถึงขนาดมีการรณรงค์กันก็มี

ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ของรัสเซีย นายยูรี ไกรกอร์เยฟ ได้ออกโรงเตือนว่า การให้เด็กใช้โทรศัพท์มือถือ ตั้งแต่หัวเท่ากำปั้นหรือเด็กเล็ก อาจทำให้สมองเด็กมีโอกาสเป็นเนื้อร้ายได้

”เรื่องที่เกี่ยวกับเด็กจะต้องระมัดระวังให้มาก เพราะพวกเขาต้องเป็นพลเมืองรุ่นอนาคต การให้เด็กใช้โทรศัพท์มือถือ ช่วงที่มีอายุระหว่าง 8-12 ปี เมื่อเด็กโตมีอายุ 21 ปี จะเสี่ยงกับการเป็นเนื้องอกของสมอง สูงกว่าปกติถึง 5 เท่า”

ในขณะที่ประเทศอังกฤษนั้น ก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีได้ออกมากล่าวเตือนพ่อแม่ ว่าไม่ควรซื้อโทรศัพท์มือถือให้ลูกๆใช้ โดยเฉพาะกับเด็กอายุไม่เกิน 8 ปี เพราะเด็กเหล่านี้อาจจะได้รับอันตรายจากรังสีที่แผ่ออกมาจากโทรศัพท์ มือถือได้

รายงานผลทางวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกเกี่ยวกับรังสีคลื่นแม่เหล็ก ที่เป็นอันตรายจากการใช้โทรศัพท์มือถือ ก็มีการเปิดเผยออกมาอย่างต่อเนื่อง และบ่อยครั้งเหลือเกิน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นการสอดรับกับผลวิจัยก่อนหน้านี้ว่าต้องระมัดระวัง

แต่ทุกวันนี้ เราก็ใช้โทรศัพท์มือถือกันจนเป็นเรื่องปกติ

ดิฉันเองก็เห็นรายงานเรื่องภัยมือถือต่อเด็กจำนวนมาก อาจจะมากพอๆ กับเพื่อนผู้อ่านที่เป็นพ่อแม่ แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือความตระหนักว่าโทรศัพท์มือถือมีอันตรายอยู่จริง และเป็นอันตรายต่อลูกของเรา แต่ก็นั่นแหละ ขนาดชีวิตประจำวันของเราเอง ก็ยังต้องพึ่งพาโทรศัพท์มือถืออยู่ทุกวี่วันอยู่ดี แล้วจะไม่ให้เรียกว่าตกเป็นทางของโทรศัพท์มือถือได้อย่างไร

นี่ถึงขนาดบางคนวันไหนไม่มีโทรศัพท์มือถือติดตัว ต้องเรียกว่าลงแดงเลยก็มี..!!

เอาเป็นว่าเมื่อเราต้องใช้ชีวิตอยู่กับเจ้าโทรศัพท์มือถืออยู่ดี ก็เอาเป็นว่าแล้วเราจะลดอัตราเสี่ยงเรื่องภัยร้ายที่จะส่งผลกระทบต่อลูกของเรา หรือเด็กเล็กๆ ได้อย่างไร

หนึ่ง พยายามวางแผนการใช้โทรศัพท์เมื่ออยู่กับลูก ถ้ารู้ล่วงหน้าว่าจะต้องคุยโทรศัพท์นานๆ ก็ควรวางแผนการใช้โทรศัพท์บ้าน โดยการนัดหมายเวลา เพื่อที่ลูกจะได้คุยโทรศัพท์ได้อย่างปลอดภัย ความจริงวิธีนี้เป็นการประหยัดด้วย ถ้าให้ดีก็เป็นการสอนให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องโทรศัพท์บ้านและโทรศัพท์มือถือมีความแตกต่างกันอย่างไรด้วยซะเลย

สอง ถ้ามีความจำเป็นต้องให้ลูกใช้โทรศัพท์มือถือจริงๆ ก็ควรจะใช้ในช่วงเวลาสั้นๆ และนานๆ ครั้ง คุยธุระเสร็จก็รีบวางสาย โดยไม่ลืมที่จะอธิบายให้ลูกฟังว่า ภัยจากโทรศัพท์มือถือมีอะไรบ้าง และทำไมพ่อแม่ไม่อยากให้หนูใช้นานๆ เพราะพ่อแม่เป็นห่วงลูก

สาม หลีกเลี่ยงการวางโทรศัพท์มือถือในสถานที่ที่ลูกอยู่ เช่น ในเปล หัวนอนบนเตียงนอนห้องลูก หรือบริเวณที่ลูกชอบอยู่ เพราะโทรศัพท์มือถือจะมีการแผ่รังสี แม้ว่าคุณจะไม่ได้ใช้มันก็ตาม

สี่ พยายามใช้อุปกรณ์เสริมเพื่อช่วยลดการแพร่กระจายรังสีโดยตรงไปยังอวัยวะสำคัญของลูก เช่น Small talk, Handsfree ,Bluetooth ฯลฯ

กรณีจำเป็นก็ใช้วิธีหลีกเลี่ยงได้...

แต่...ถ้าถึงขั้นต้องซื้อโทรศัพท์มือถือให้ลูกเลย ทั้งที่วัยยังไม่เหมาะสม หรือซื้อเพียงเพราะไม่อยากขัดใจลูก ก็เท่ากับว่าคุณกำลังทำร้ายลูกของคุณด้วยตัวคุณเอง


ที่มา: หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ
ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th/node/13051
Article Other
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
Sponsors
view all
Banner
view all