ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
Sponsors
view all
Banner
view all
Article
Share
ลูกน้อยร้องไห้...อยากรู้ไหมว่าเพราะอะไร?

ลูกน้อยร้องไห้...อยากรู้ไหมว่าเพราะอะไร ? การรับมือกับทารกร้องไห้งอแง จัดเป็นความท้าทายอย่างใหญ่หลวง ในเมื่อคุณผ่านช่วงเวลาแห่งการอุ้มท้องโตๆ มา 9 เดือน และทนทุกข์กับความเจ็บปวดจากการคลอดมาแล้ว ตอนนี้ยังต้องมารับมือกับลูกที่กำลังร้องไห้จ้าไม่เลือกเวลา แม้จะได้รู้สึกซาบซึ้งถึงความรักของแม่ (ตัวเอง) ขึ้นมาจับใจ แต่คุณก็ไม่อยากติดอยู่ในวังวนนี้นานนัก

ว่ากันว่าคุณแม่มือใหม่ได้รับการตั้งโปรแกรมให้แสดงปฏิกิริยากับเสียงร้องของลูกโดยอัตโนมัติ แต่คุณก็อ่อนล้าสับสนจนไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี การทำความเข้าใจว่าทำไมลูกถึงร้องไห้จะช่วยให้คุณรับมือกับทุกอย่างได้ง่ายขึ้นนับตั้งแต่ให้นมไปจนถึงเข้านอน เสียงร้องไห้ของลูกบางครั้งเป็นการเรียกร้องความสนใจ แต่หลายๆ ครั้งเป็นการแสดงความรู้สึกของทารกผู้ซึ่งยังไม่สามารถสื่อสารออกมาเป็นคำพูดได้เพียงคุณสนองความต้องการได้ตรงใจของหนู เสียงอุแว้คงกลายเป็นเสียงหัวเราะได้ไม่ยาก


ทำไมลูกถึงร้องไห้?

สาเหตุที่ทารกร้องไห้นั้นแตกต่างกันไปตามความต้องการเฉพาะของแต่ละคนอาจจะหิว เหนื่อย เปียกแฉะ หรือเจ็บป่วยก็ตามแต่ จากการทดลองล่าสุดของอเมริกาพบว่า แม่ 35% แยกแยะเสียงร้องไห้ของลูกตัวเองกับลูกคนอื่นไม่ออกตอนเปิดเทปให้ฟัง

ดร. แคลร์ ไบแอม คุ๊ก ผู้ประพันธ์หนังสือ Top Tips For Bottle-Feeding บอกว่า... "เมื่อฟังเสียงร้องไห้ของลูกแล้ว โอกาสที่จะสามารถบอกได้ในทันทีว่าลูกรู้สึกอย่างไร อาจไม่ถูกต้องเสมอไป โดยเฉพาะในช่วงเวลา 2-3สัปดาห์แรก คุณต้องใช้วิธีตัดสาเหตุที่คุณคาดเดาถึงความเป็นไปได้ออกไปทีละข้อจนเหลือคำตอบสุดท้าย" ลองดูตัวอย่างดังต่อไปนี้


"หนูหิว"
ความหิวเป็นเหตุผลธรรมดาสุดๆ ที่ทำให้ทารกแรกเกิดร้องไห้ แต่มักถูกมองข้ามไป การที่ทารกหลับไปคาอกแม่ตอนกินนมไม่ได้หมายความว่าได้รับนมอย่างพอเพียง ดูให้แน่ใจว่าลูกได้ดูดนมสองเต้าอย่างเต็มที่แล้วในแต่ละมื้อ คำแนะนำในการให้นมคือ ช่วง 2-3 สัปดาห์แรกให้นมตามความต้องการของลูกก่อน จากนั้นค่อยจัดเวลา เช่น ให้นมอิ่มเต็มที่ทุก3-4 ชั่วโมง

ถ้าลูกกินนมขวดและยังดูดอยู่หลังจากกินนมเสร็จแล้ว ให้นมเพิ่มอีก 1 ออนซ์เพื่อให้แน่ใจว่าลูกได้รับนมตามที่ต้องการเพราะลูกกำลังเจริญเติบโตและมักมีความหิวเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็แล้วแต่ไม่ต้องกังวล ตราบเท่าที่ลูกได้รับนมในปริมาณที่แนะนำไว้ที่ข้างกระป๋องนมในรอบ 24 ชั่วโมง


"หนูเหนื่อย"
ก่อนที่ลูกจะเข้าสู่โหมดร้องไห้งอแงและไม่ยอมนอน มักจะส่งสัญญาณตามลำดับ คือขยี้ตา ตาแดงก่ำ และหาวหวอด ทารกที่เหนื่อยมากเกินไปมักม่อยหลับเองได้ยาก โดยเฉพาะถ้ามีผู้คนวนเวียนอยู่รอบข้างทั้งวัน หรือบรรยากาศรอบตัวเสียงดังคึกโครมเกินไป ให้พาไปห้องเงียบๆ แล้วกล่อมให้สงบลง ถ้าไม่ได้ผลให้อุ้มลูกแนบอกหรือนำใส่รถเข็นพาเดินไปรอบๆ บ้าน


"หนูหนาว"
เรามัวแต่ห่วงว่าลูกจะร้อนเกินไปจนนำไปสู่ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับแต่ขอให้คิดในทางตรงข้ามบ้าง ลองเปลี่ยนจากการห่มผ้า แล้วให้ลูกนอนในถุงนอนสำหรับทารกแทน จะได้ขจัดปัญหาการสลัดหรือเตะผ้าห่มออกไปแต่ถ้าวันไหนอากาศเย็นจัดหนูก็ต้องการผ้าห่มด้วยเช่นกัน ให้ใช้สามัญสำนึกเป็นหลัก ถ้าลูกตื่นกลางดึกและอากาศค่อนข้างเย็น ให้ห่มผ้าอีกผืน ห้องนอนสำหรับทารกควรมีอุณหภูมิระหว่าง 24-25 องศาเซลเซียส


"หนูว้าเหว่อ่อนแอ"
บางทีทารกอาจต้องการแค่ให้พ่อแม่กอดเท่านั้นเอง ทารกแรกเกิดบางคนมีความสุขเวลานอนถีบขาอยู่ในเปล แต่หลายคนชอบให้อุ้มแนบชิด พึงรื่นรมย์กับช่วงเวลานี้ซึ่งจะมีอยู่ไม่นาน เพราะเมื่อหนูเติบโตขึ้น คุณคงไม่สามารถโอ๋ลูกได้เหมือนตอนลูกเป็นทารกน้อยหรอก


"ทุกอย่างวุ่นวายเกินไป"
ทุกอย่างอาจมากเกินไปสำหรับทารกแรกเกิดซึ่งมักถูกส่งให้คนโน้นคนนี้อุ้มไปทั่ว ดังนั้น
ให้ทำตามตารางด้วยการให้นมทุก 4 ชั่วโมง ให้นมแล้วให้ลูกได้ทำกิจกรรมความบันเทิงสักชั่วโมงครึ่งจากนั้นให้ลูกหลับ โดยในช่วงหัวค่ำควรกำหนดว่าจะพาลูกเข้านอนในเวลา 1 ทุ่มทำให้เหมือนกันทุกวันจนเป็นกิจวัตรนอกจากจะส่งผลดีต่อการปรับตัวของลูกแล้ว ชีวิตคุณจะวุ่นวายน้อยลงด้วย


"ก็หนูเป็นอย่างนี้นี่นา"
ทารกบางคนมีบุคลิกที่เข้ากับผู้คนได้ยาก คือเป็นประเภทเรียกร้องสูงและจู้จี้มาก มักร้องไห้ได้ง่ายแม้จะได้รับการดูแลอย่างดีก็ตาม ควรพาทารกออกไปรับอากาศบริสุทธิ์นอกบ้านบ้าง หรือให้คนในครอบครัวช่วยดูแลลูกเพื่อให้คุณได้พักผ่อนบ้าง โปรดรำลึกไว้ว่าช่วงเวลาร้องไห้โยเยของเขาจะผ่านพ้นไปเองส่วนใหญ่เมื่ออายุได้ราว 4 เดือน ระหว่างนี้ควรกระตุ้นให้สามีมีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกไปด้วย


วิธีปลอบเมื่อลูกร้องไห้

1.เคลื่อนไหวไปมา
พาลูกเคลื่อนไหวไปมาในหลากหลายรูปแบบจนกว่าจะค้นพบว่าลูกชอบแบบไหน เห่กล่อมเต้นรำ หรือเขย่าหนูเบาๆ ในอ้อมกอดหรือบนเตียง ถ้าไม่ได้ผล ลองพานั่งในรถหรือรถเข็นอาจช่วยได้เช่นกัน

2.ใช้เสียงช่วย
การใช้เสียงช่วยในรูปแบบต่างๆ เช่น ร้องเพลงให้ลูกฟัง เปิดวิทยุหรือทีวี ในบางครั้งการเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องดูดฝุ่น เครื่องซักผ้า หรือเปิดก๊อกน้ำ ก็ช่วยได้เช่นกัน

3.พูดคุยด้วย
อุ้มลูกขึ้นมาในระดับสายตาแล้วพูดคุยด้วยอย่างอ่อนโยนว่า "ลูกจ๋า มีเรื่องบ่นเยอะแยะเลยใช่ไหมเนี่ย" ซึ่งเป็นการแสดงว่าคุณตอบสนองต่อปฏิกิริยาของลูกอย่างสงบและควบคุมตัวเองได้

4.สงบเข้าไว้
อย่าโทษตัวเองที่ไม่รู้ว่าลูกต้องการอะไร ถ้าทารกมีสุขภาพดีแต่ส่งเสียงโหยไห้โดยไร้เหตุผลก็ให้คิดเสียว่าเป็นช่วงหนึ่งของพัฒนาการของหนูที่มักร้องไห้ออกมาง่ายดาย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าคุณล้มเหลวแต่อย่างใด


ข้อมูลจาก : http://women.sanook.com
Article Other
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
Sponsors
view all
Banner
view all