ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
Sponsors
view all
Banner
view all
Article
Share
ทำไงดีเมื่อลูกขโมย ?

ทำไงดีเมื่อลูกขโมย ? ถ้ามีใครสักคนบอกว่าลูกของคุณไปขโมยเงินหรือสิ่งของของคนอื่น คุณจะรู้สึกอย่างไร ?

เพื่อนคุณแม่ท่านหนึ่งโทรมาเล่าให้ดิฉันฟังว่า มีเพื่อนข้างบ้านของเธอมาบอกเธอว่าลูกของเธอไปขโมยเงินของเขา

เธอไม่รู้จะจัดการปัญหาอย่างไร ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี ใจหนึ่งก็ไม่เชื่อว่าลูกจะไปขโมยเงินของเขา เพราะลูกไม่เคยมีพฤติกรรมแบบนี้ ในขณะที่เพื่อนบ้านก็ดีต่อกันมาตลอด ก็ไม่คิดว่าเพื่อนจะโกหก ตอนนี้ก็เลยไม่รู้จะทำอย่างไรดี

ปัจจุบันลูกชายของเธออายุ 11 ปี สิ่งที่เธอกลุ้มใจมากก็คือ จะเริ่มต้นถามลูกว่าอย่างไร

ครั้นจะถามว่าลูกไปขโมยเงินข้างบ้านมาเหรอ ก็ห่วงความรู้สึกของลูก เพราะถ้าลูกไม่ได้เอาไป ก็จะกลายเป็นว่า แม่ไม่เชื่อใจลูก ก็กลัวลูกเตลิด แต่ถ้าไม่ถามก็คงค้างคาใจ ไม่กล้าสู้หน้าเพื่อนข้างบ้าน อีกทั้งก็อดคิดเลยเถิดไปกลัวว่าลูกจะขโมยเงินไปจริง เธอกลัวว่าถ้าได้รับคำตอบข้อนี้ เธอไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป และเธอก็ไม่กล้าเล่าให้พ่อของลูกฟังซะด้วย

เธอจึงเลือกไม่ทำอะไรเลย...!!


เรื่องลูกขโมยของ เป็นเรื่องที่คนเป็นพ่อแม่ไม่มีใครอยากได้ยิน แต่ถ้าลูกของเราทำเช่นนั้นจริงจะทำอย่างไรดีล่ะ

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ลูกของเรามีโอกาสจะขโมยของของคนอื่นได้ เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจ และเรียนรู้ว่าลูกของเราอยู่ในวัยไหนก่อน ถ้าลูกอยู่ในวัยเด็กเล็ก เขายังไม่เข้าใจเรื่องความเป็นเจ้าของ เวลาเอาของของคนอื่น เขาไม่รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ฉะนั้น คนเป็นพ่อแม่ ต้องอบรมสั่งสอน และปลูกฝังเรื่องนี้ตั้งแต่เล็ก ให้เรียนรู้เรื่องการเป็นเจ้าของ สิ่งไหนเป็นของเขา สิ่งไหนเป็นของคนอื่น และไม่ควรเอาของของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง

ถ้าเป็นเด็กโต เขาจะเรียนรู้เรื่องการเป็นเจ้าของแล้ว แต่สิ่งที่เขายังควบคุมได้ไม่ดีก็คือ การอยากได้ของของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง ถ้าพ่อแม่เลี้ยงดูและปลูกฝังเรื่องนี้มาอย่างดี ก็ไม่น่าหนักใจ ตรงกันข้ามถ้าเด็กมักจะได้ตามที่ตนเองต้องการมาโดยตลอด อยากได้อะไรก็มักได้ เมื่อเห็นของคนอื่นก็อยากได้มาเป็นของตัวเอง และเมื่อลองทำได้ครั้งหนึ่ง แล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็มักจะเกิดเป็นครั้งที่สองครั้งที่สาม และครั้งต่อๆ ไป จนกลายเป็นความเคยชินในที่สุด

และปัญหาของเด็กขโมยที่จะตามมา ก็คือ เด็กจะโกหก เพราะไม่กล้าบอกความจริง เกรงว่าจะถูกทำโทษนั่นเอง ฉะนั้นคนเป็นพ่อแม่ต้องรีบแก้ปัญหาให้ทันท่วงที และพูดคุยกับลูกให้เหมาะสมตามวัย

แล้วจะทำอย่างไรเมื่อสงสัยว่าลูกของเราเข้าข่ายผู้ต้องสงสัยขโมย ?

**ประการแรก – สอบถามลูกด้วยท่าทีที่อ่อนโยน ถ้าเป็นกรณีของเพื่อนคุณแม่ข้างต้น ก็อาจจะเริ่มถามถึงเหตุการณ์ว่าวันที่เกิดเหตุหนูไปบ้านของเพื่อนบ้านคนนั้นหรือเปล่า ไปเล่นอะไร ไปทำอะไร และชวนพูดคุยถึงสิ่งที่เขาทำในบ้านนั้น ซึ่งช่วงเวลาเหล่านั้น เราสามารถสังเกตความเป็นไปของลูกได้เป็นอย่างดี ยิ่งถ้าเป็นพ่อแม่ที่ใกล้ชิดลูกก็จะสังเกตและสัมผัสได้ว่าลูกของเราปกติหรือเปล่า

ถ้าลูกของเราปกติ ก็เล่าให้ฟังว่าเพื่อนบ้านมาเล่าให้แม่ฟังว่าเงินเขาหาย ไม่รู้ว่าหายในช่วงเวลาไหน เขากังวลว่าจะหายในช่วงเวลาที่หนูไปเล่นที่บ้านเขา และปล่อยให้ลูกได้พูดตามปกติ ไม่ควรตั้งคำถามนำประเภทว่า “หนูขโมยเงินของเขาไปหรือเปล่า” หรือ “หนูขโมยเงินเขาไปใช่ไหม” เพราะถ้าหากลูกไม่ได้ทำ เขาจะเสียใจมากที่คนที่เขารักที่สุด ไม่ไว้วางใจเขา

แต่อาจตั้งคำถามประมาณว่า “เขาไม่แน่ใจว่าเงินหายตอนไหน แม่ก็ไม่สบายใจเพราะหนูไปเล่นบ้านเขา แม่เชื่อว่าหนูไม่ได้เอาเงินของเขาไปใช่ไหมลูก” จากนั้นก็ปล่อยช่วงเวลาให้ลูกได้พูดและเราเป็นผู้รับฟัง หรือถ้าสุดท้ายเขายอมรับว่าเขาเป็นคนเอาเงินไป ก็ตามไปอ่านข้อถัดไป

**ประการที่สอง – “แล้วทำไมลูกต้องเอาเงินของเขาไปด้วยล่ะลูก” “หนูมีความจำเป็นอะไรที่ต้องไปเอาเงินของเขาไป” พูดด้วยท่าทีปกติ ไม่ใช้อารมณ์ และพร้อมจะรับฟังว่าเรื่องราวต่างๆ เป็นอย่างไร คำตอบอาจมีได้หลายทาง ล้วนแล้วแต่จะเป็นคำตอบที่เขาไม่ได้ตั้งใจขโมย แต่เขาต้องเอาเงินไปด้วยสาเหตุต่างๆ นานา เราก็ต้องรับฟังด้วยความเข้าอกเข้าใจก่อน

บางที เขาอาจไปทำของอะไรบางอย่างเสียหาย และกลัวว่าจะถูกลงโทษ ไม่กล้าบอกพ่อแม่ พอไปเห็นเงินแล้วก็เลยคิดว่าถ้าได้เงินนั้นไปซื้อของชดใช้ เรื่องก็คงจะจบ แต่มันไม่จบ...ทีนี้ก็เป็นเรื่องของคนเป็นพ่อแม่ที่ต้องอธิบายว่ามันไม่จบอย่างไร และก็ต้องพูดคุยกับลูกให้ลูกได้เห็นถึงผลกระทบที่ตามมา เช่น เมื่อหนูขโมยเงินคนอื่นไป คนๆ นั้นเขาอาจจะเดือดร้อนเรื่องเงินอยู่ เพราะมีความจำเป็น แล้วเขาจะทำอย่างไรล่ะ

แล้วถ้าเป็นลูกล่ะ ลูกถูกขโมยเงินไป แล้วลูกจะรู้สึกอย่างไร


พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เขาคิดตาม และพูดความรู้สึกออกมา เป็นการได้ระบายความรู้สึก ขณะเดียวกันก็เป็นการสอนให้เขารู้ว่าเป็นเรื่องไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง ตอนนี้หนูยังเป็นเด็ก เขายังยอมให้อภัยได้ง่าย แต่ถ้าเมื่อหนูเป็นผู้ใหญ่ เขาคงไม่ยอม และอาจไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ หนูก็อาจจะต้องถูกตำรวจจับได้ เป็นการอธิบายให้ลูกเห็นภาพและคิดตาม ซึ่งจะทำให้เขาเข้าใจมากขึ้น

**ประการสุดท้าย – ต้องให้ลูกได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ผิด เพราะฉะนั้นต้องรับผิดชอบการกระทำของตัวเอง เริ่มจากการยอมรับผิด เอาเงินไปคืนเจ้าของ และขอโทษเขาซะ จากนั้นก็อาจจะให้เขาคิดวิธีที่จะลงโทษตัวเอง อาจจะใช้วิธีตัดสิทธิเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น ตัดค่าขนม หรืองดดูรายการโปรดอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่สำคัญต้องลงโทษเขาด้วย เพื่อให้เรียนรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควร และหากมีครั้งต่อไป ก็จะเพิ่มโทษมากขึ้น

เรื่องนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน อยู่ที่การจัดการของแต่ละครอบครัว ถ้าพื้นฐานครอบครัวปลูกฝังเรื่องความซื่อสัตย์ ไม่ขี้ขโมย หรือไม่เอาของของคนอื่นมาเป็นของตัวเองตั้งแต่เขายังเล็ก เขาก็จะรู้จักผิดชอบชั่วดี แยกแยะสิ่งผิดถูกตั้งแต่เล็กได้ ที่สำคัญที่สุด อย่าปล่อยให้ปัญหาเหล่านั้นสั่งสม หรือแก้ปัญหาโดยไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้เรื่องเงียบไปเอง ก็เท่ากับเราปล่อยปละละเลย เพราะเห็นว่าลูกเป็นเด็ก เรื่องนี้เรื่องเล็ก ทำไมต้องจริงจังด้วย

ใครจะรับประกันได้ว่า เมื่อเขาโตขึ้น เขาจะไม่มีนิสัยขี้ขโมยติดตัว และกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีความซื่อสัตย์ ชอบเอาของของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง

บางครั้งก็นึกสงสัยเหมือนกันว่ายุทธการคอร์รัปชั่นมโหฬารที่เกิดขึ้นในบ้านเรา มันเริ่มมีนิสัยติดตัวมาตั้งแต่เป็นเล็กเลยหรือเปล่า...!!!

ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th
Article Other
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
Sponsors
view all
Banner
view all