ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
Sponsors
view all
Banner
view all
Article
Share
โรคแพ้โปรตีนนมวัว.....น่ากลัวกว่าที่คิด

โรคแพ้โปรตีนนมวัว.....น่ากลัวกว่าที่คิด หลายคนมีความเชื่อว่า เด็กจะเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ และฉลาดก็ต่อเมื่อได้รับสารอาหารที่เพียงพอและมีคุณภาพ ซึ่งนอกจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว นมกระป๋องสำเร็จรูปก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ให้แม่ยุคใหม่เลือกให้ลูกกินเป็นอันดับต้น ๆ ด้วยเพราะมีการโฆษณานมสำหรับเด็กกันมาก บรรยายสรรพคุณกันไปต่าง ๆ นานา

ยี่ห้อนี้.... ป้องกันโรคภูมิแพ้
ยี่ห้อนี้.... ช่วยทำให้เด็กฉลาด
ยี่ห้อนี้.... สร้างภูมิคุ้มกันได้
ยี่ห้อนี้.... ”

ความเชื่อดังกล่าวเป็นความเชื่อที่ไม่ผิด แต่นอกจากการได้รับสารอาหารเพียงพอเพื่อให้ลูกฉลาดแล้ว จะแน่ใจได้อย่างไรว่า สารที่เจือปนมากับนมกระป๋องจะไม่ส่งผลกระทบต่อลูกน้อยได้..โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่มีชื่อว่า “โรคแพ้โปรตีนนมวัว”

โรคภูมิแพ้ จัดเป็นโรคที่พบบ่อยโรคหนึ่งในประเทศไทย จากการศึกษาอัตราความชุกของโรคในประเทศไทย พบว่า มีอัตราความชุกอยู่ระหว่าง 15- 45 % โดยประมาณ โดยพบโรคโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ มีอัตราชุกสูงสุดในกลุ่มโรคภูมิแพ้ นั่นหมายความว่า ประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ มีปัญหาเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้อยู่

โรคภูมิแพ้ แม้ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงใด ๆ แต่ก่อให้เกิดความรำคาญและทำให้ร่างกายของผู้ที่เป็นโรคนี้อ่อนแอได้ หากไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจัง สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะทุกวันนี้เด็กกินนมแม่น้อยลง ทำให้เด็กเสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้น

พญ.ภาสุรี แสงศุภวานิช กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า จากสถิติเด็กไทยเกิดปีละประมาณ 8 แสนคนต่อปี การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน เพียงร้อยละประมาณ 20 % เพราะฉะนั้นจะมีเด็กที่ถูกเลี้ยงด้วยนมวัวประมาณ 6 แสนคน และมีเด็กแพ้นมวัวสูงถึงปีละ 20,000 ราย

“ทารกที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ คือ ทารกที่มีบิดามารดา พี่น้องท้องเดียวกันเป็นโรคภูมิแพ้ หรือการกินนมวัวขณะตั้งครรภ์ ดังนั้น ควรให้ความสำคัญกับการให้ทารกได้รับนมแม่ ทั้งในระยะกินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และให้ต่อเนื่องกับอาหารอื่นตามวัย ซึ่งนมแม่มีกลไกในการป้องกันโรคแพ้อาหาร เนื่องจากการกินนมแม่ช่วยลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้ที่ร่างกายจะได้รับ เช่น โปรตีนนมวัว และในน้ำนมแม่มีภูมิคุ้มกันช่วยจับสารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในอาหาร ทำให้สารก่อภูมิแพ้เหล่านั้นไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายของลูก ที่สำคัญการกินนมแม่ยังช่วยลดการติดเชื้อแบคทีเรียในวัยทารก ”

พญ.ภาสุรีบอกด้วยว่า โรคแพ้โปรตีนนมวัวนี้ ถือเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยากมาก บางรายพอได้รับนมวัวปุ๊บก็มีอาการทันที เช่น มีผื่นแดงขึ้นบริเวณผิวหน้า แขน ขา ลำตัว ปากเจ่อบวม ขณะที่บางรายช่วงแรกที่ดื่มนมวัวจะยังไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา แต่พอดื่มไปสักพัก 2-3 เดือน ก็จะมีอาการเป็นหวัดเรื้อรัง ท้องเสีย อาเจียน ถ่ายมีเลือดปน หายใจขัด คัดจมูก หลับไม่สนิท ผื่นแพ้ ซึ่งส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นโรคธรรมดาในเด็ก ก็เลยยิ่งทำให้เด็กเจ็บป่วยโดยไม่จำเป็น และไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง

ที่สำคัญคือ การแพ้โปรตีนนมวัวในวัยทารกเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเป็นโรคหืดเมื่อเด็กโตขึ้นได้

นอกจากนี้ ในระยะ 4-6 เดือนแรก เยื่อบุทางเดินอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบน้ำย่อยสารต่าง ๆ ของทารกยังไม่แข็งแรง ดังนั้นการได้รับนมผสม หรืออาหารอื่น ทำให้ทารกเสี่ยงต่อการเกิดการแพ้อาหารและการกระตุ้นให้เกิดผื่นที่ผิวหนัง เนื่องจากนมผสมและอาหารอื่น จัดเป็นสิ่งแปลกปลอม เนื่องจากในระยะที่ทารกยังมีระบบทางเดินอาหารที่ไม่แข็งแรง โปรตีนแปลกปลอมเหล่านี้จึงไม่ถูกย่อย หรือทำลายความแปลกปลอมลงไม่ให้ได้มีโอกาสเล็ดลอดไปก่อให้เกิดการแพ้ได้ง่าย

“โรคแพ้โปรตีนนมวัว ถึงจะเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่อาการจะส่งผลต่อเนื่องในอนาคตได้ เช่น โรคนี้จะทำให้เด็กหลับไม่สนิท ก็จะส่งผลให้เด็กเรียนไม่รู้เรื่อง ง่วงซึม หรือหวัดเรื้อรัง เด็กก็จะได้รับยาปฏิชีวนะเรื่อย ๆ เมื่อได้รับบ่อย ๆ จะเสี่ยงต่อการแพ้ยา ถ้าแพ้รุนแรงอาจถึงชีวิตได้ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังในระยะยาว เห็นได้จาก โรคหืดเป็นสาเหตุอันดับ 1 ที่ทำให้เด็กขาดเรียน อาการ หายใจไม่ทัน มีเสียงหืดขณะหายใจ ต้องพ่นยาขยายหลอดลม ค่าใช้จ่ายที่ตามมาก็จะมีความทวีคูณขึ้น ” แพทย์คนเดิมอธิบาย

ทั้งนี้ เห็นได้จากเด็กในสมัยก่อนมีอัตราการเสี่ยงโรคภูมิแพ้น้อย เพราะเด็กกินนมแม่เยอะ แต่ด้วยวิวัฒนาการทันสมัยในปัจจุบัน นมผงสำเร็จรูปจึงเข้ามามีบทบาทในการเลือกให้ทารกบริโภค ด้วยเพราะเชื่อในอานุภาพของส่วนประกอบที่พยายามเลียนแบบให้ใกล้เคียงนมแม่ ซึ่งสารประกอบบางตัวที่อ้างถึงนั้นอาจมีส่วนประกอบที่ต่างจากน้ำนมแม่ได้ เช่น นมแม่มี นิวคลีโอไทด์ ซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อต่าง ๆ ส่วนประกอบ นิวคลีโอไทด์ ในนมแม่ ต่างจาก นิวคลีโอไทด์ ในนมผสม

ด้าน อัญญาลักษณ์ สามัติถิยดีกุล แม่ของน้องนีนี่วัย 11 เดือน เล่าว่า เหตุที่ให้ลูกกินนมวัวเพราะไม่มีน้ำนมให้ลูกได้กินเพียงพอ หลังจากคลอดแล้วประมาณ 3 วันลูกร้องไห้ตอนกลางคืนมาก จึงต้องพึ่งนมกระป๋อง โดยให้ลูกกินวันละ 3 ขวด ขวดละ 9 ออนซ์ต่อวัน ซึ่งถือว่าเยอะมาก ทำเช่นนี้เรื่อย ๆ ไปประมาณ 1 เดือน ลูกเริ่มมีผื่นแดงขึ้นตามผิวหน้าและลำตัว

อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นพยายามหยุดนมกระป๋องแต่ด้วยเพราะไม่มีน้ำนมจึงไม่มีทางเลือก หลังจากที่เข้าเดือนที่ 2 ลูกเริ่มเป็นหวัดบ่อยมาก และถ่ายเยอะ 5-6 ครั้ง ต่อวัน หรือมากที่สุด 9 ครั้งต่อวัน

“พอเริ่มเห็นท่าไม่มีดีแล้ว จึงพาน้องนีนี่ไปหาหมอ ตรวจอุจจาระ เจอสารเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดงซึ่งสารพวกนี้เป็นสารเพาะเชื้อ คุณหมอจึงแนะนำให้เปลี่ยนนมเป็นนมถั่วเหลือง หลังจากนั้นอาการก็หาย แต่พอไปตรวจอีกครั้งก็ยังพบเม็ดเลือดขาว และเม็ดเลือดแดงอยู่ จึงเปลี่ยนมาเป็นนมสลายโปรตีน สำหรับเด็กแพ้นมวัวและนมถั่วเหลือง ซึ่งไม่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป แถมราคายังสูงถึง 2-5 เท่า เมื่อเทียบกับราคานมทั่วไป ”

แม่น้องนีนี่เล่าต่อว่า นอกจากนมวัวและนมถั่วเหลืองที่น้องกินไม่ได้แล้ว ขนมหรือคุกกี้ที่มีส่วนผสมของนมวัวและนมถั่วเหลืองก็กินไม่ได้เช่นกัน และน้องนีนี่ยังง่ายต่อสิ่งกระตุ้นให้เกิดการแพ้ง่ายขึ้น เช่น ไรฝุ่น เกสรต่าง ๆ ผ้าห่ม ผ้านวมด้วย

เช่นเดียวกับ ภานิภักษ์ แม่ของน้องซานตร้า วัย 1 ขวบ 9 เดือน ที่เล่าว่า ให้นมลูกจนลูกอายุ 1 ขวบ 8 เดือน ก็ต้องหยุดให้เพราะมาทราบภายหลังว่าได้ตั้งท้องลูกคนที่ 2 ได้ ประมาณ 6 สัปดาห์ ระหว่างนั้นก็ให้กินอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของนม ทำให้น้องซานตร้ามีผื่นแดงทั้งหน้า หอบ หน้าบวม ปากบวม จึงหยุดให้อาหารเสริม หลังจากนั้นประมาณ 1 ชม. อาการก็ดีขึ้น ทราบภายหลังว่าลูกแพ้โปรตีนนมวัว ส่งผลให้แพ้อาหารตระกูลสตรอว์เบอร์รี่ ไข่ขาว อาหารทะเล เพราะเมื่อแพ้โปรตีนนมวัวแล้วจะกระตุ้นให้ร่างกายแพ้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ การให้เด็กดื่มนมกระป๋องตั้งแต่แรกเกิดยังทำให้เด็กขาดโอกาสที่จะได้รับภูมิต้านทานโรคที่ดีซึ่งมาจากน้ำนม “โคลอสตรัม” เป็นหัวน้ำนมที่มีสารภูมิคุ้มกันเชื้อโรค มีวิตามิน เกลือแร่ และสารช่วยการเจริญเติบโตที่สำคัญสูงกว่านมระยะหลังถึง 10 เท่า เด็กจึงปลอดภัยจากโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ท้องเสีย หรือปอดบวม เนื่องจากระยะแรกนั้น แม้ช่วงสมองจะมีพัฒนาการที่เร็วมาก แต่ร่างกายก็มีความบอบบางมากเช่นกัน และเป็นสิ่งที่นมผสมไม่สามารถเติมสารใด ๆเลียนแบบได้เลย

ขณะเดียวกันการที่ไม่ได้ให้ลูกดื่มนมแม่ตั้งแต่แรก ยังพลาดโอกาสที่สำคัญที่สุดที่จะได้รับอาหารที่เหมาะสมกับพัฒนาการทางสมอง ซึ่งถือว่า ทารกในช่วง 6 เดือนแรกนี้ สมองจะมีการเติบโตที่รวดเร็วมาก ดังนั้นการให้อาหารที่เหมาะสมกับการเติบโตของสมองทารกจะช่วยให้เด็กมีความเฉลียวฉลาด

แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นก็คือ การให้ลูกดูดนมแม่ทันทีหลังเกิดเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างสายใยรัก กระตุ้นให้เกิดพลังรัก พลังความผูกพัน โดยสัมผัสดังกล่าวช่วยให้สมองของทารกมีการเชื่อมต่อ อันส่งผลต่อพัฒนาการทางสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กอีกด้วย

เรื่อง....สุรีย์พร ชัยบุตร
ข้อมูลจาก : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9500000078002
Article Other
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ
อาหารต้องห้ามสำหรับเด็กอายุก่อนหนึ่งขวบ
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
5 สิ่งที่่พ่อแม่อาจเผลอ Bully ลูก
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
4 โมเมนต์พิเศษที่คุณแม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อบ้าง
Sponsors
view all
Banner
view all