ลูกโตช้า ไม่ยอมทานข้าว ช่วงอายุ 1 – 12 เดือน (ตอนที่ 1) เมื่อลูกอายุประมาณ 3 เดือน ลิ้นของลูกเริ่มรู้รสชาติต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น เช่น รสเปรี้ยว หวาน หรือเค็ม จึงควรเริ่มให้อาหารอื่นนอกจากนมแก่ลูกในระยะนี้ แต่ในระยะต้น ๆ อาหารที่ให้แก่ลูกควรจะเหลวมาก ๆ เพื่อให้ลูกกลืนได้คล่องคอ เมื่อลูกอายุประมาณ 6-7 เดือน จึงเริ่มให้อาหารที่ข้นขึ้น เนื้ออาหารไม่ต้องละเอียดเท่าเดิม อายุประมาณ 8-9 เดือน ควรทานโจ๊กใส่หมูสับได้แล้ว และเมื่ออายุ 1 ปี ควรให้ลูกหัดทานข้าวสวย ลูกควรผ่านขั้นตอนเหล่านี้ ถ้าไม่ผ่านขั้นตอนเหล่านี้ ลูกจะทานได้แต่อาหารเหลว เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม หรือนม อาหารเหล่านี้ดูเหมือนว่าลูกทานได้มาก แต่ความเป็นจริงแล้วลูกจะได้พลังงานจากอาหารเหล่านี้เพียงเล็กน้อยและไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงทำให้ลูกเติบโตช้า
ยกตัวอย่าง
ถ้าลูกอายุ 1 ปีควรได้พลังงานวันละ 1000 กิโลแคลอรี และโปรตีน 20 กรัม ถ้าทานข้าวต้มชามใหญ่ 3 มื้อ + ใส่ไข่ 2 ฟองต่อวัน จะได้พลังงาน 500 กิโลแคลอรี และโปรตีน 10 กรัม นมขนาด 8 ออนซ์ 3 ขวด จะได้พลังงาน 500 กิโลแคลอรี และโปรตีน 25 กรัม จะเห็นได้ว่า ลูกต้องทานข้าวต้มชามใหญ่ให้ครบ 3 มื้อ และนมขวดใหญ่อีก 3 ขวด จึงจะพอเพียงสำหรับการเจริญเติบโต หากในแต่ละวันลูกทาน
ข้าวมันไก่ 1 ส่วน 3 จาน (พลังงาน 250 กิโลแคลอรี และโปรตีน 3 กรัม)
ข้าวไข่เจียว 1 ส่วน 3 จาน (พลังงาน 250 กิโลแคลอรี และโปรตีน 3 กรัม)
ข้าวหมูทอด 1 ส่วน 3 จาน (พลังงาน 200 กิโลแคลอรี และโปรตีน 4 กรัม)
และทานนม 8 ออนซ์ อีก 3 ขวด (พลังงาน 500 กิโลแคลอรี และโปรตีน 25 กรัม)
ในแต่ละวันลูกจะได้พลังงานรวมกันประมาณ 1200 กิโลแคลอรี และโปรตีนประมาณ 35 กรัม ซึ่งพอเพียงสำหรับการเจริญเติบโตและจะโตเร็วกว่าตัวอย่างแรก
เมื่อเปรียบเทียบอาหารทั้งสองชนิดและจะพบว่า ลูกทานข้าวต้มเต็มที่ก็จะไม่สามารถเพิ่มปริมาณได้อีก แต่ถ้าทานข้าวสวยแล้วลูกยังเพิ่มจำนวนได้อีกมาก และยังใช้เวลาทานน้อยกว่ามาก คุณจึงควรฝึกให้ลูกทานอาหารเหล่านี้ตั้งแต่อายุ 1 ปี
ถ้าลูกไม่ได้ฝึกทานอาหารเหล่านี้ตั้งแต่เล็ก แต่เคยชินกับข้าวต้ม โจ๊ก หรือก๋วยเตี๋ยวแล้ว ยามใดที่ลูกทานอาหารลดลงจากปกติจะทำให้ลูกขาดอาหารทันที และถึงแม้ลูกจะทานเพิ่มขึ้นเต็มที่ก็เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเท่านั้น ไม่เหลือให้สะสมมากนัก จึงควรเอาใจใส่อาหารเหล่านี้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก ๆ
ข้อมูลจาก :
http://www.maedek.com