ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
หาโรงเรียนให้ลูกรัก
หาโรงเรียนให้ลูกรัก คนเมืองที่มีลูกเล็กคงคุ้นเคยกับฉากชีวิตประจำวันฉากนี้ดี...
ทุกเช้า หน้าโรงเรียนอนุบาล ท่ามกลางบรรยากาศจ้อกแจ้กจอแจของพ่อแม่ผู้ปกครองที่อุ้มลูก จูงหลาน มาส่งเข้าโรงเรียน หลังการร่ำลาสั้นๆ และมือน้อยๆ ของลูกถูกส่งต่อถึงมือคุณครูแล้ว คนเป็น พ่อแม่ก็จะเร่งรีบ จากไปทำงานในบัดดล เจ้าตัวเล็กจะเรียนและเล่นอย่างไร ไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็น รู้เพียงว่าช่วงเวลาเย็น มีฉากชีวิต อีกฉากหนึ่งรออยู่ นั่นคือการไปรับลูกกลับบ้าน ภาพของ หนูน้อย วิ่งโผหาพ่อแม่ เล่าเสียงแจ้วๆ ถึงกิจกรรมที่ทำ ระหว่างวัน ทั้งสนุกสนาน ตื่นเต้น และประทับใจ มีการเติมแต่งสีสันลงไปมากน้อยเพียงใดก็สุดจะเดา
อย่ากระนั้นเลย แค่คำบอกเล่าที่ผสมจินตนาการบรรเจิดของลูก อาจให้ภาพไม่ชัดเจนพอ เราเลยแอบตาม ไปดูหนูๆ ถึงชั้นเรียนอนุบาล ชนิดเกาะติดขอบโต๊ะเรียน เอาภาพจริงมาร้อยเรียง เป็นเรื่องราวให้ชมกันถ้วนหน้า และไปถึงโรงเรียนอนุบาลทั้งที มีหรือจะไม่หยิบเรื่องราว น่าสนใจเกี่ยว กับ การเรียนในระดับชั้นอนุบาลมาฝาก ชาวเมโทรไลฟ์ที่มีลูกเล็กกันแล้วจะรู้ว่า เรื่องเรียนอนุบาลของ ลูกน้อยในสมัยนี้ คนเป็นพ่อแม่ให้ความสำคัญ ขนาดไหน

เรื่องใหญ่ของเจ้าตัวเล็ก
ปัญหา ‘น่าหนักใจ’ อย่างหนึ่งของพ่อแม่รุ่นใหม่ คือ การเลือกโรงเรียนอนุบาลให้ลูกเพราะการศึกษา ในวัยอนุบาลส่งผลต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของลูก เปรียบเป็น ‘ก้าวแรก’ ที่สำคัญทางการศึกษา คนเป็นพ่อแม่ย่อมต้องการเลือกสิ่งที่คิดว่าดีและคุ้มค่าที่สุดให้ลูก เพราะนี่ถือเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง ...การลงทุนทางการศึกษาที่มีเงื่อนไขให้พิจารณามากมาย ร้อยแปดพันเก้าประการ ข้อสำคัญคือ ในปัจจุบันมี ‘ทางเลือก’ สำหรับแนวทางการศึกษาในวัยอนุบาล เป็นจำนวนมาก
แน่นอนว่า ยิ่งมีให้เลือกมาก ก็ยิ่งต้องเลือกมาก!

จะเลือกโรงเรียน ต้องทำอะไรบ้าง

1. สำรวจทัศนคติ ถามตัวเองให้กระจ่างว่า อะไรคือสิ่งที่เราต้องการ ปรัชญาการศึกษาแบบไหน ที่เหมาะกับทัศนคติของเรา และเหมาะสำหรับลูก

2. หาข้อมูลโรงเรียน มีโรงเรียนไหนบ้างที่ “เข้าทาง” และยึดครองพื้นที่ในใจเราสุดๆ

3. เงื่อนไขของครอบครัวมีอะไรบ้าง มีลูกกี่คน ถ้าเป็นลูกคนเดียวก็ทุ่มได้เต็มที่เลย รวมทั้ง รายละเอียดปลีกย่อย เช่น ใครจะทำหน้าที่รับส่งลูก

4. เตรียมตัวไปเยี่ยมชมโรงเรียนที่หมายตาไว้ ควรหาเวลาว่างแล้วไปพร้อมกันทั้งพ่อแม่และลูก

5. เตรียมคำถามให้พร้อม อยากรู้เรื่องไหน จดเป็นรายการไว้เลย เอาให้ละเอียดยิบ จะได้ไม่หลง ลืมเมื่อมีโอกาสพบหน้าอาจารย์หรือเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน

ปัจจัยหลักที่ต้องรู้

1. ระยะเวลาในการเดินทาง สำคัญมาก เกิดเป็นคนกรุงเทพฯ จะละเลยเรื่องการเดินทาง ไม่ได้เด็ดขาด อย่าลืมว่าแค่ต้องจากบ้านไปเข้าโรงเรียนเป็นครั้งแรก เจ้าตัวเล็กก็อาจจะปอดแหกแล้ว ถ้ายังต้องตื่นแต่เช้ามืดเพื่อเดินทางอีก ลูกจะระทมทุกข์ขนาดไหน มีหวังจะเฉาเสียก่อน

เลือกให้เหมาะใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงาน ถ้าโรงเรียนใกล้บ้านก็ไปส่งลูกสะดวก ไม่ต้องตื่น เช้ามาก แต่ถ้าที่ทำงานเราอยู่ไกลบ้านมากๆ ก็หนีไม่พ้นต้องตื่นเช้าอีกนั่นแหละ ส่วนโรงเรียนใกล้ ที่ทำงานก็สะดวกต่อการไปรับ การไปรับลูกให้ตรงเวลาก็สำคัญไม่น้อย ถ้าลูกต้องแกร่วรอพ่อกับแม ่ในขณะที่เพื่อนๆ กลับไปเกือบหมด คงหงอยน่าสงสาร

เรื่องระยะทางใกล้ไกลนี่ ยังหมายรวมถึงการใช้บริการรถรับส่งของโรงเรียนด้วย

2. ค่าใช้จ่าย ทำเป็นตารางออกมาเลย แต่ละโรงเรียนมีค่าใช้จ่ายเท่าไร แยกรายละเอียดว่ามี อะไรบ้าง จะได้กำหนดงบประมาณคร่าวๆ และวางแผนบริหารการเงินให้สอดคล้อง 

3. สภาพแวดล้อมของโรงเรียน ไปสำรวจโรงเรียนทุกซอกมุม มีพื้นที่เท่าใด อาคารเรียน สนามเด็กเล่น เครื่องเล่น มีต้นไม้ให้ความร่มรื่นไหม รวมทั้งบรรยากาศในห้องเรียนด้วย มีการจัด ห้องเรียนอย่างไร สื่อการสอนมีอะไรบ้าง เช่น ของในมุมการเล่นสมมติ หนังสือนิทาน และเกมเสริมทักษะต่างๆ 

4. การรับนักเรียน เปิดรับเด็กช่วงไหน ถ้าจะให้ดี สนใจโรงเรียนไหน ติดต่อขอข้อมูลไว้แล้วลง ชื่อจองไว้ก่อนเลย เพราะส่วนใหญ่จะใช้เกณฑ์ “มาก่อนได้ก่อน” บางแห่งได้รับความนิยมจาก ผู้ปกครองมากถึงขั้นต้องจองที่เรียนตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้อง หรือโรงเรียนนานาชาติที่กำหนดสัดส่วน เด็กไทยไว้เพียงจำนวนหนึ่ง ก็สมควรจองไว้แต่เนิ่นๆ

ความสำคัญของการจองที่เรียน นอกจากเพื่อสร้างความมั่นใจว่าลูกได้เข้าเรียนชัวร์แล้ว ยังอยู่ที่ การจัดเด็กตามอายุด้วย


อนุบาลแนวไหนดี ?

นอกจากโรงเรียนอนุบาลแนวเร่งเรียนเขียนอ่าน และแนวเตรียมความพร้อมที่เป็นตัวเลือก หลักแล้ว ปัจจุบัน ยังมีโรงเรียนสองภาษาหรือไบลิงกัว (BI-LINGUAL) และโรงเรียนนานาชาติ เป็นทางเลือกเพิ่มขึ้นอีกด้วย

1. อนุบาลแนวเร่งเรียนเขียนอ่าน กลุ่มนี้จะเป็นโรงเรียนที่การันตีว่าเรียนจบแล้วจะสอบเข้าป.1 โรงเรียนดังๆ ได้ แนวการสอนคือ สอนคัดลายมือ สอนบวกลบเลข สอนให้อ่านออกเขียน ได้เมื่อจบชั้นอนุบาล 3

2. อนุบาลแนวเตรียมความพร้อม แตกต่างจากกลุ่มแรกอย่างชัดเจน เพราะเป้าหมายคือ “เตรียมความพร้อมสำหรับการขึ้นชั้นป.1” ยึดแนวคิดที่ว่า เด็กวัย 3 - 6 ปี สมองและร่างกาย กำลังเจริญเติบโตเต็มที่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะฝึกทักษะด้านการคิด จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และการบังคับกล้ามเนื้อทั้งหลายให้ทำงานต่างๆ ได้ดี 

แนวทางการศึกษาจะเน้นการเล่น กิจกรรมส่วนใหญ่จะเป็นการเล่นเพื่อกระตุ้นความคิด สร้างสรรค์ และการบริหารกล้ามเนื้อทั้งมัดใหญ่(แขนกับขา) และมัดเล็ก (มือกับเท้า) 

อนุบาลแนวเตรียมความพร้อม ยังแยกย่อยออกเป็นประเภทต่างๆ ขึ้นอยู่กับปรัชญาการศึกษา ที่นำมาใช้ อาทิ นีโอฮิวแมนนิส วอลดอร์ฟ มอนเตสเซอรี เรกจิโอ เอมิเลีย และโปรเจกต์ แอปโพรช

3.โรงเรียนสองภาษา หรือไบลิงกัว เพิ่งจะบูมขึ้นมาในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เป็นโรงเรียนที่มี การเรียนการสอนสองภาษา คือ ภาษาไทยกับภาษาอื่นอย่างภาษาอังกฤษหรือภาษาจีน โดยข้อ กำหนดของกระทรวงศึกษาธิการระบุให้แบ่งการสอนออกเป็นครึ่งต่อครึ่ง คือสอนภาษาไทยครึ่งหนึ่ง และภาษาอังกฤษครึ่งหนึ่ง และต้องมีการใช้ภาษาไทยในห้องเรียนด้วย 

ในระดับอนุบาลก็มีการสอนแนวเตรียมความพร้อมเช่นกัน แต่จะสื่อการเรียนการสอนเป็น ภาษาอังกฤษ มีทั้งครูต่างชาติและครูไทยในห้องเดียวกัน

4.โรงเรียนนานาชาติ จากเดิมที่มีไว้รองรับลูกหลานคนต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย รับเด็กไทยเพียง 10 – 15 % ปัจจุบันนี้ กลายเป็นเทรนด์ใหม่ของคนไทยกลุ่มหนึ่งที่มีกำลังซื้อสูง มองการณ์ไกลอยากให้ลูกโกอินเตอร์ตั้งแต่เด็ก เตรียมตัวไปเรียนต่อยังต่างประเทศในอนาคต ข้างหน้า

โรงเรียนนานาชาติ เป็นโรงเรียนที่ไม่ได้ใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ แต่จะใช้ หลักสูตรของต่างประเทศ แยกเป็นโรงเรียนนานาชาติแท้ๆ คือรับเด็กจากชาติต่างๆ เรียนคละกัน ใช้หลักสูตรระบบอเมริกันและระบบอังกฤษ กับโรงเรียนเฉพาะเจาะจงของแต่ละชาติ เช่น โรงเรียนญี่ปุ่นที่ใช้หลักสูตรญี่ปุ่น หรือโรงเรียนฝรั่งเศสก็เรียนตามหลักสูตรฝรั่งเศส แต่ส่วนใหญ่โรงเรียนนานาชาติจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก เพราะเป็นภาษากลางที่ใช้ได้ทั่วโลก


เตรียมลูกให้พร้อม

1. ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวัน เช่น แต่งตัว กินข้าว และปล่อยให้ลูกวิ่งเล่นออก นอกบ้านบ้าง รวมทั้งสอนให้บอกความต้องการของตัวเอง

2. เตรียมความพร้อมด้านอารมณ์ ฝึกให้ลูกมีความอดทนและรู้จักการรอคอย รวมไปถึงฝึก ให้ลูกรู้จักเหตุและผล โดยการใช้เหตุผลมาประกอบการบอกให้ลูกทำ และห้ามทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดทุกครั้ง

3. เตรียมความพร้อมด้านสติปัญญา ฝึกให้ลูกสังเกตโลกภายนอก และธรรมชาติรอบๆ ตัว เช่น เสียงนกร้อง เสียงใบไม้ไหว 

4. เตรียมความพร้อมด้านกล้ามเนื้อต่างๆ ให้ลูกมีโอกาสได้เล่นหรือทำกิจกรรมที่ได้ใช้มือบ่อยๆ เช่น ต่อบล็อก ต่อจิ๊กซอว์ ปั้นดินน้ำมัน พับกระดาษ ก่อกองทราย ฯลฯ

5. เตรียมความพร้อมด้านภาษา ด้วยการอ่านนิทานให้ฟังทุกวัน

6. กรณีจะให้ลูกเข้าโรงเรียนสองภาษาหรือโรงเรียนนานาชาติ ต้องฝึกให้ลูกคุ้นเคยกับ ภาษาอังกฤษ โดยการให้ดูรายการทีวีที่เป็นภาษาอังกฤษ ฟังวิทยุหรือ่านนิทานภาษาอังกฤษให้ลูกฟัง และอาจพูดคุยโต้ตอบเป็นภาษาอังกฤษกับลูกในชีวิตประจำวัน

7. สร้างความคุ้นเคยในการไปโรงเรียนด้วยการพาลูกไปเที่ยวโรงเรียนก่อนเปิดเทอม พาไป พบครูประจำชั้นเพื่อให้ลูกรู้สึกอุ่นใจ รวมทั้งการพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับสิ่งดีๆ ที่จะได้เจอที่โรงเรียน

8. ให้ลูกได้ลองจัดกระเป๋าหนังสือ และลองใส่ชุดนักเรียน เพื่อกระตุ้นให้ลูกรู้สึกอยากไป โรงเรียน


หาข้อมูลจากไหน


1. ครอบครัวที่เรารู้จักคุ้นเคย ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ถือเป็นแหล่งข้อมูลทรงคุณค่า แต่ก่อนจะเชื่อ เราต้องสำรวจทัศนคติให้ถ้วนถี่ก่อนว่า “โรงเรียนดีๆ” ในความหมายของเรากับเขาตรงกันรึเปล่า

2. อินเทอร์เน็ต เดี๋ยวนี้โรงเรียนต่างๆ เผยแพร่ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ก็จะได้ข้อมูล เบื้องต้นว่าโรงเรียนตั้งอยู่ที่ไหน ค่าใช้จ่ายเท่าไร และมีแนวทางการสอนแบบไหน รวมทั้งเว็บ บอร์ดต่างๆ ที่มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในการเลี้ยงลูก

3. หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และวารสารต่างๆที่เกี่ยวข้อง

4. สอบถามจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) โทร. 0-2668-7123


เตรียมคำถามให้พร้อม
ข้อมูลเบื้องต้นของโรงเรียนอนุบาลที่เราหมายตาไว้เป็นตัวช่วยสำคัญในการกลั่นกรองตัวเลือกที่มีอยู่ แต่การได้ไปสัมผัสของจริงในสถานที่จริงจะนำไปสู่การตัดสินใจขั้นสุดท้าย
สิ่งสำคัญของการไปเยี่ยมชมโรงเรียน นอกจากตาดู (สภาพโรงเรียนทั้งหมด) และหูฟัง (คำบรรยายสรรพคุณโรงเรียนจากครูหรือเจ้าหน้าที่) แล้ว ปากก็ต้องทำหน้าที่ด้วย อย่าได้ลังเลที่จะ ถามคำถาม ทุกสิ่งทุกอย่างทุกเรื่องทุกราวที่สงสัยใคร่รู้ เพราะยิ่งรู้ลึกรู้ละเอียดก็จะยิ่งเป็นผลดี กับเราและเจ้าตัวเล็ก อย่าเกรงใจว่าจะรบกวนคุณครูหรือเจ้าหน้าที่ เพราะเป็นหน้าที่ของเค้าที่ต้อง ตอบคำถามของผู้ปกครอง และอย่ากลัวว่าคำถามของเราจะเป็นคำถามพื้นๆ ธรรมดาๆ เพราะคำตอบ ที่ได้กลับมาอาจน่าสนใจกว่าที่เราคิดก็ได้ ข้อสำคัญคืออากัปกิริยาของผู้ถูกถาม ซึ่งควรจะแสดง ออกมาแบบกระตือรือร้นพร้อมจะให้รายละเอียดทุกอย่าง

ถามอะไรบ้าง

1. สอนแนวไหน
2. เรียนอย่างไร เล่นอย่างไร เป็นเรื่องของกระบวนการเรียนการสอน ซึ่งแต่ละโรงเรียนก็จะมี รูปแบบของตัวเอง
3. สัดส่วนครู และครูผู้ช่วยหรือพี่เลี้ยงในห้องเรียน
4. เด็กต้องทำกิจกรรมอะไรบ้าง จุดประสงค์ของการทำกิจกรรม เพื่ออะไรและทำแล้วได้อะไร
5. กิจกรรมที่ผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วม มีไหม อะไรบ้าง และมากน้อยแค่ไหน
6. การแสดงออกของเด็ก ให้โอกาสและอิสระแค่ไหน
7. วิธีการลงโทษเมื่อเด็กทำความผิด
8. สื่อการเรียนการสอนในห้องเรียนเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง เช่น ของเล่นประเทืองปัญญา ของเล่นบทบาทสมมติ (ชุดคุณหมอ ชุดคุณครู) และหนังสือนิทาน
9. แหล่งเรียนรู้อื่นๆ เช่น ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์
10. การใช้พื้นที่ประกอบกิจกรรมต่างๆ ในบริเวณโรงเรียน เช่น สระว่ายน้ำ และสนามเด็กเล่น มีกี่แห่ง ใช้รวมกันทั้งเด็กเล็กเด็กโตไหม มีผู้ดูแลตลอดเวลาหรือไม่ และควรอยู่ห่างจากถนน
11. เรื่องของอาหารการกิน มื้อหลัก อาหารว่าง และนม รวมทั้งน้ำดื่มภายในโรงเรียน
12. ห้องน้ำ แยกส่วนสำหรับเด็กเล็กหรือไม่
13. มาตรการรักษาความปลอดภัยในโรงเรียน มีประตูเข้าออกกี่แห่ง จำนวน รปภ.
14. ค่าใช้จ่าย ข้อนี้ถามให้ดีและละเอียด เพราะบางโรงเรียนจะรวมทุกอย่างไว้ในค่าเทอม แต่บางแห่งจะแยกย่อยเป็นค่าเล่าเรียน ค่าบำรุงการศึกษา ค่าชุดนักเรียน ค่าอุปกรณ์ ฯลฯ

ข้อมูลจาก : http://www.anubarn.com
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
items ต้องมี! ช่วยหนูน้อยฝึกการเข้าห้องน้ำ
items ต้องมี! ช่วยหนูน้อยฝึกการเข้าห้องน้ำ
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? เอกชน หรือรัฐบาล
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? เอกชน หรือรัฐบาล
การเลือกซื้อคาร์ซีทเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย
การเลือกซื้อคาร์ซีทเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย