ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
สังเกตสุขภาพจิตในวิกฤติน้ำท่วม
สังเกตสุขภาพจิตในวิกฤติน้ำท่วม ปฏิเสธไม่ได้ว่า อุทกภัยครั้งนี้ มีความรุนแรงและสร้างความเสียหายให้กับประชาชนจำนวนมาก รศ.พญ.บุรณี กาญจนถวัลย์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลกระทบต่อสภาพจิตใจที่สำคัญคือ ผู้ประสบภัยย่อมเกิดความรู้สึกสูญเสีย อาจเพราะต้องเสียบุคคลอันเป็นที่รัก บ้าน ทรัพย์สิน ชนิดสิ้นเนื้อประดาตัว ประกอบกับความสูญเสียที่เป็นนามธรรม เช่น นักเรียน ม.6 เสียโอกาสในการเตรียมตัวสอบแอดมิชชั่นที่คาดหวังมาหลายปี นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับความกลัวในสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดการได้ กลัวความไม่ปลอดภัยของตนเองและครอบครัว


และบ่อยครั้งที่ความรุนแรงจากเหตุการณ์ ทำให้ผู้ประสบภัยเป็นโรคเครียดจากเหตุการณ์รุนแรง หรือที่เรียกว่า Post Traumatic Disorder โดย รศ.พญ.บุรณี ระบุว่า ผู้ป่วยจะมีอาการเครียด สะดุ้ง ผวา ตัวสั่น หวาดกลัว ไม่กล้าผ่านไปในสถานที่เกิดเหตุหรือไม่อยากฟังเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง บางรายรุนแรงถึงขั้นลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปชั่วขณะ ซึ่งในอดีตโรคนี้พบมากหลังเหตุการณ์คลื่นสึนามิถล่มไทยในปี พ.ศ.2547

ยังมีโรคซึมเศร้า ที่ รศ.พญ.บุรณี เตือนให้คนรอบข้างต้องดูแลผู้ป่วยโรคนี้ให้ดี เนื่องจากมีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย! โดยสัญญาณบอกโรคซึมเศร้าประกอบด้วย อาการเศร้าเสียใจ ท้อแท้ ไม่อยากทำอะไร หมดเรี่ยวแรง หมดความสนใจในสิ่งที่ชอบ ซึม ไม่พูด เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ 

ทั้งนี้ สภาพจิตใจของผู้ประสบภัยจะฟื้นกลับมาเป็นปกติได้เร็วหรือช้า ในแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน โดยปัจจัยหลักๆ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ซึ่งผู้ที่เคยประสบภัยมาแล้ว สภาพจิตใจมักฟื้นฟูได้ในระยะ 1-2 เดือน เร็วกว่าผู้ไม่เคยประสบภัยมาก่อน

ด้านกลุ่มคนที่ติดตามข่าวสารสถานการณ์น้ำท่วม รศ.พญ.บุรณี เผยว่า เทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารมีผลทำให้ผู้เสพข่าวเกิดความเครียดได้ง่าย เนื่องจากเนื้อหาของข่าวสารมีการบอกเล่าความรู้สึก จึงมักก่อให้เกิดโรควิตกกังวล โรคเครียด โดยอาการที่สังเกตได้นั้น มีทั้งคิดกังวลอยู่ตลอด ปวดหัว ใจสั่น เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม นอนไม่หลับ หากร่างกายไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ พาลให้ความดันโลหิตสูง เป็นโรคกระเพาะ และโรคหัวใจตามมาได้

วิธีเยียวยาสภาพจิตใจของผู้ประสบภัยในเบื้องต้น รศ.พญ.บุรณี แนะให้จัดการที่ตัวปัญหาก่อน เช่น คนในครอบครัวร่วมกันวางแผนดูแลความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินในช่วงวิกฤติ โดยไม่ควรปล่อยให้คนใดคนหนึ่งในครอบครัวแบกรับภาระความผิดชอบเพียงคนเดียว และไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร ต้องยอมรับ และที่สำคัญ คือ ไม่กล่าวโทษกัน อย่างนี้เรียกว่า การจัดการระยะฉุกเฉิน ส่วนการจัดการระยะยาว อยู่ในรูปของการแก้ไขสิ่งต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำซากในอนาคตอีก

การดูแลอารมณ์ ความรู้สึก สำหรับผู้ประสบภัยนั้น รศ.พญ.บุรณี เน้นว่า คนในครอบครัวต้องช่วยเหลือกันก่อน เริ่มจากการไม่เผชิญหน้าอยู่กับความกลัวที่ต่อเนื่อง ด้วยการย้ายไปพักพิงในบริเวณที่ปลอดภัย จากนั้นต้องสังเกตกันและกัน หากพบว่า สมาชิกในครอบครัวเครียด ซึมเศร้า บ่นอยากฆ่าตัวตาย ควรมีการพูดคุยให้ระบายความทุกข์ อย่าปล่อยให้อยู่ลำพัง ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน หนึ่งคนคิดบวกเพื่อตั้งหลักให้คนอื่นๆ ไม่จิตตกอยู่นาน

“โดยส่วนใหญ่ ผู้ที่มีอาการท้อแท้ มักเป็นหัวหน้าครอบครัว ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนในครอบครัวต้องดูแลจิตใจ เพราะหากผ่านพ้นเหตุการณ์ไปแล้ว คนเหล่านี้จะกลับมาเป็นกำลังหลักของครอบครัวต่อไป” รศ.พญ.บุรณี กล่าว

สุดท้าย รศ.พญ.บุรณี ย้ำว่า การดูแลสภาพจิตใจในภาวะเช่นนี้ คนในชุมชนต้องไม่ทอดทิ้งกัน เพื่อความรู้สึกมีพรรคพวก ไม่โดดเดี่ยว อย่างไรก็ตาม ผู้ประสบภัยไม่ควรใช้สารเสพติดเพื่อให้ลืมปัญหาเพียงชั่วคราว เพราะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา แต่กลับเพิ่มปัญหาให้คนในครอบครัว
  
ข้อมูลจาก : http://www.vcharkarn.com/varticle/43440
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
items ต้องมี! ช่วยหนูน้อยฝึกการเข้าห้องน้ำ
items ต้องมี! ช่วยหนูน้อยฝึกการเข้าห้องน้ำ
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? เอกชน หรือรัฐบาล
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? เอกชน หรือรัฐบาล
การเลือกซื้อคาร์ซีทเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย
การเลือกซื้อคาร์ซีทเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย