ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
เคี้ยวไม่เป็น!

เคี้ยวไม่เป็น! คุณแม่ที่ยอมตามใจให้ลูกกินแต่นม อาหารปั่นเหลว ทั้งที่วัยของเขาต้องกินอาหารเหมือนผู้ใหญ่ได้แล้ว เพียงเพราะคิดว่า…เห็นทีต้องรีบปรับวิธีคิดและปรับกลยุทธ์กันใหม่แล้วค่ะ เพราะเรื่องนี้ส่งผลโดยตรงถึงสุขภาพและพัฒนาการของลูกในหลายๆ ด้านอย่างที่คุณอาจคาดไม่ถึง 

ปกติเมื่อลูกอายุประมาณ 7-8 เดือน มีฟันขึ้นแล้ว ลูกจะเริ่มเคี้ยวอาหารได้แล้ว ถ้ามีการฝึกให้ลูกกินอาหารอื่นนอกจากนม เขาก็จะสามารถพัฒนาทักษะนี้ไปได้มากขึ้นเรื่องๆ ตามลำดับ จนเมื่ออายุครบ 1 ขวบขึ้นไปก็สามารถรับประทานอาหารได้เหมือนอย่างผู้ใหญ่ แต่ปัญหาที่หลายๆ บ้านพบคือ ลูกไม่ยอมกินข้าวถึงเวลากินทีไรต้องร้องหาแต่นม ไม่ก็จะกินแต่อาหารเหลวๆ หรือถ้ากินก็มักจะบ้วนทิ้งหรืออมไว้ไม่ยอมเคี้ยว ไม่ยอมกลืน ปฏิเสธอาหารแข็ง อาหารเป็นชิ้น บางคนอายุขวบกว่าหรือ 2 ขวบแล้วแต่ยังกินนมเป็นหลัก หรือยังกินอาหารปั่นเหลวอยู่ อย่างนี้เป็นสัญญาณบอกค่ะว่า ลูกกำลังมีปัญหาในเรื่องทักษะการเคี้ยว อันเนื่องจากการที่ไม่ได้รับการฝึกเรื่องการรับประทานอาหารตามวัยมาตั้งแต่แรกเริ่มหัดหม่ำ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจาก…

ความกังวลของพ่อแม่ ในช่วงที่เปลี่ยนอาหารเหลวมาเป็นอาหารที่เป็นชิ้นเป็นอันมากขึ้น ลูกอาจจะมีการปฏิเสธบ้างในครั้งแรกๆ เพราะความไม่คุ้นเคย แต่ด้วยเกรงว่าลูกอาจจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จึงแก้ปัญหาด้วยการให้อาหารบดหรือนมเหมือนเดิม 

ความสะดวกของพ่อแม่หรือผู้เลี้ยง ที่เห็นว่าวิธีไหน อาหารแบบใดที่เด็กยอมกินแต่โดยดีก็จะเลือกและใช้วิธีนั้นๆ ซ้ำๆ จนเกิดเป็นนิสัยการกินของลูกไป 

ขาดความเข้าใจในการฝึกลูกกินอาหารที่ต้องสอดคล้องตามวัย เช่น อาจจะเริ่มเร็วไป ลูกยังไม่ถึงวัยที่พร้อมจะเคี้ยวกลืนอาหารก็ป้อนกล้วยครูด ข้าวบด อย่างนี้ลูกอาจจะต่อต้านได้ หรือเมื่อลูกถึงวัยที่ต้องเริ่มกินอาหารอื่นนอกจากนมแล้ว (4-6 เดือน) แต่ก็ห่วงว่าลูกจะกินไม่ได้ จะติดคอ ผลก็คือลูกชินกับอาหารที่ไม่ต้องเคี้ยวและติดการกินนม ไม่เห็นว่าเป็นปัญหาเพราะอย่างน้อยลูกก็ยังกินอาหารอยู่ เมื่อลูกไม่เคี้ยว พ่อแม่ไม่พยายามที่จะฝึกลูกตั้งแต่เนิ่นๆ ปล่อยเลยตามเลย หรือไม่ก็ปล่อยลูกไว้กับพี่เลี้ยงที่ตามใจ นานเข้ากว่าจะรู้ก็กลายเป็นปัญหาเสียแล้ว 

ทักษะการเคี้ยวนั้นสำคัญกับการเจริญเติบโตของลูกอย่างมากค่ะ เพราะการเคี้ยวถือเป็นต้นทางของระบบการย่อยอาหารและนำสารอาหารไปใช้จะสะดุดเท่านั้น แต่ยังสัมพันธ์ถึงสุขภาพและพัฒนาการด้านอื่นๆ ของลูกอีกด้วย 

ถ้าลูก “เคี้ยวไม่เป็น” ผลกับการเจริญเติบโต เมื่อถึงวัยครบขวบ นมที่เคยเป็นอาหารหลักจะกลายเป็นอาหารเสริม อาหารหลักของลูกจะเป็นอาหารทั่วไปที่ต้องหลากหลายและครบ 5 หมู่ แต่ถ้าลูกยังกินนมเป็นอาหารหลักอยู่ก็จะเกิดปัญหาได้ค่ะ โดยเฉพาะในช่วงอายุหลังขวบครึ่งไปแล้ว เนื่องจากในนมมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก ลูกจะหิวบ่อยทำให้ต้องนมตลอดทั้งวันทั้งคืน การที่ลูกดื่มนมมากๆ จะทำให้ลูกได้รับน้ำมากเกินกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการ ผลที่ตามมาคือปัสสาวะมากและบ่อย ขณะที่วัยนี้ต้องใช้พลังงานมาก แต่ก็ยังได้รับพลังงานไม่เพียงพอ จึงทำให้ตัวไม่โตขึ้น ผลกับระบบขับถ่าย แน่นอนค่ะ 

ถ้าลูกกินแต่นมหรืออาหารปั่นเหลว การที่จะได้รับกากใยจากผักและผลไม้นั้นแทบไม่มีโอกาส ซึ่งนั่นย่อมส่งผลกับระบบขับถ่ายของลูกค่ะ ผลกับฟันและรูปหน้า คุณรู้หรือไม่การเคี้ยวเป็นการฝึกการเคลื่อนไหวของขากรรไกร บริหารกล้ามเนื้อบริเวณกระพุ้งแก้ม กล้ามเนื้อคอ ฝึกการใช้ลิ้นในการตวัด และดุนอาหาร ฯลฯ ซึ่งนอกจากสำคัญกับความสามารถในการเคี้ยวแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้กรามและฟันมีการเจริญเติบโต แต่ถ้าเด็กกินแต่นมหรืออาหารปั่นเหลวติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ จะสังเกตได้ว่าเด็กเหล่านี้จะมีขากรรไกรและคางเล็กซึ่งนั่นมีผลกับรูปหน้าและพื้นที่ที่ฟันจะขึ้นมีจำกัด อาจส่งผลถึงการงอกและการเรียงตัวของฟันได้ค่ะ 

ผลกับพัฒนาการและทัศนคติการกินอาหาร การเคี้ยวทำให้ลูกได้ทดสอบความสามารถตัวเอง จากการใช้อวัยวะต่างๆ ในการป้อนอาหารให้ตัวเอง ควบคุมการเคี้ยว กลืนด้วยตัวเอง จากปีก่อนที่เคยถูกควบคุมมาตลอด แต่ลูกที่เคี้ยวไม่เป็นโอกาสจะได้สัมผัสสิ่งเหล่านี้ก็ไม่มี และแม้ว่าโตขึ้นเขาจะสามารถเคี้ยวได้เองตามธรรมชาติก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจากการเคี้ยวไม่เป็นของลูกก็คือ ทัศนคติที่ไม่ดีกับการกินอาหาร ลูกจะกลายเป็นเด็ก เลือกกิน กินยาก 

นอกจากนี้ในช่วงวัย 1-3 ปีนี้ การเจริญเติบโตของลูกจะเริ่มชะลอตัว เข้าสู่ช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ ลูกจะมีการเคลื่อนไหวมาก ไม่สนใจกินอาหาร อาหารวัยนี้จึงควรเป็นชนิดแข็งที่อยู่ท้องได้นาน ซึ่งนั่นหมายความว่าเขาต้องเคี้ยวอาหารที่แข็งและเหนียวได้มากขึ้นกว่าเดิมแล้ว แต่เมื่อยังเคี้ยวไม่เป็นก็จะกระทบถึงสุขภาพร่างกายและพัฒนาการการเรียนรู้ได้ ทางออกคือเริ่ม "ฝึก" ถ้าพ้นขวบปีแรกมาแล้วมารู้ว่าลูกมีปัญหาเคี้ยวไม่เป็น สิ่งที่ต้องทำคือเริ่มต้นฝึกกันใหม่ค่ะ แม้มันจะเป็นเรื่องยากกว่าการฝึกในช่วงขวบปีแรกก็ตาม 

ส่วนวิธีในการฝึกนั้นก็เหมือนกับการฝึกลูกกินอาหารเสริมในช่วงแรกค่ะ คือ ค่อยๆ ให้ลูกกินอาหารที่แข็งขึ้นเพื่อให้ได้ฝึกเคี้ยวบ้าง และต้องฝึกด้วยท่าทีเชิญชวนบรรยากาศสนุกสนาน ไม่บังคับฝืนใจ คุณพ่อคุณแม่อาจทำให้ดูว่าการเคี้ยวเป็นอย่างไร บอกลูกว่าอาหารเอร็ดอร่อยขึ้นเพียงใดจากการที่เคี้ยว หรือมีอาหารอื่นๆ ที่อร่อยๆ รออยู่ถ้าหนูเคี้ยวเป็น เป็นต้น 

ส่วนคุณๆ ที่ยังไม่เกิดปัญหานี้ขึ้น เมื่อลูกถึงวัยที่ต้องเริ่มฝึกกินอาหารเสริมคือ 6 เดือน ก็ต้องเริ่มให้ลูกได้ลิ้มลองอาหารอื่นนอกจากนม เริ่มจากอาหารเหลวบดละเอียด กลืนง่าย แล้วค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็น ข้น หยาบนิ่ม จนเป็นอาหารปกติ ถ้าลูกยังไม่ยอมกินอย่าตามใจลูกจนละเลย พยายามและเริ่มต้นใหม่ค่ะ ช่วงวัยประมาณ 8-9 เดือนเมื่อสังเกตว่าลูกชอบหยิบของเข้าปาก ลองเตรียมอาหารที่มีลักษณะเป็นชิ้นให้ลูกได้หยิบกินเคี้ยว และจัดให้ลูกได้มีโอกาสร่วมโต๊ะอาหารบ้าง เพื่อให้เป็นแบบอย่างของการกินอาหาร มาถึงบรรทัดนี้คุณพ่อคุณแม่คงเห็นแล้วว่า ทักษะการเคี้ยวนั้นสำคัญอย่างมากกับสุขภาพและการเจริญเติบโตของลูก เรื่องนี้จึงไม่ใช่ปัญหาที่คุณจะละเลยหรือมองข้ามไป แต่ต้องรีบแก้ไขทันที เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านในการฝึกฝนลูกให้เคี้ยวเก่ง เคี้ยวคล่องค่ะ

  
 ข้อมูลจาก : http://www.sudrak.com
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
items ต้องมี! ช่วยหนูน้อยฝึกการเข้าห้องน้ำ
items ต้องมี! ช่วยหนูน้อยฝึกการเข้าห้องน้ำ
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? เอกชน หรือรัฐบาล
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? เอกชน หรือรัฐบาล
การเลือกซื้อคาร์ซีทเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย
การเลือกซื้อคาร์ซีทเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย