ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
เลี้ยงลูกอยู่บ้านก็ทำงานได้

เลี้ยงลูกอยู่บ้านก็ทำงานได้ สำหรับคุณพ่อคุณแม่หลายท่าน การได้ให้เวลากับครอบครัวด้วยการทำงานจากที่บ้าน ไม่ต้องผจญรถติด เข้าออฟฟิศทุกวันเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่เพียงแค่เชื่อมต่อเข้าอินเทอร์เน็ต ก็สามารถส่งงานถึงกัน ตลอดจนสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานได้แล้ว แต่ก็มีบางรายที่มองว่า แนวทางดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้ชีวิตสะดวกง่ายดายแต่อย่างใดเลย แถมยังนำเรื่องงานกับการเลี้ยงลูก - ดูแลบ้านมารวมเข้าด้วยกัน จนรู้สึกว่าตนเองนั้นเหนื่อยมากขึ้นเสียอีก

อย่างไรก็ดี เทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้ง 10 ข้อเหล่านี้อาจพอช่วยให้การจัดแบ่งเวลาระหว่างการดูแลลูก - การทำงานของคุณนั้นง่ายขึ้นค่ะ

1. กำหนดพื้นที่ทำงานที่ชัดเจน 

เพราะการกำหนดพื้นที่ทำงาน หรือห้องทำงานให้ชัดเจนจะช่วยให้การทำงานจากที่บ้านเป็นไปโดยราบรื่นมากกว่าการนั่งทำงานบนโต๊ะรับประทานอาหาร หรือทำงานในห้องนั่งเล่น นอกจากนั้น การมีห้องทำงาน คุณยังสามารถจัดวางอุปกรณ์สำนักงาน เช่น แฟกซ์ โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ พรินเตอร์ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็นให้ง่ายต่อการใช้งานด้วย ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับบ้านที่มีพื้นที่กว้างขวาง อย่างไรก็ดี หากพื้นที่ในบ้านมีจำกัด ไม่สามารถจัดเป็นห้องทำงานได้ ก็ควรเลือกพื้นที่ที่สงบเงียบแล้วจัดมุมเล็ก ๆ สำหรับทำงาน ข้อสำคัญในการเลือกมุมทำงานก็คือ ต้องไม่ใช่มุมที่ถูกรบกวนโดยสมาชิกคนอื่น ๆ ในบ้านได้โดยง่าย และมีสิ่งดึงดูดใจน้อย เพื่อจะได้ทำงานอย่างเต็มที่

2. เตรียมพื้นที่ให้พร้อม

เพราะหลังจากนี้ คุณอาจต้องใช้เวลาอยู่กับมุมดังกล่าวมากกว่ามุมอื่น ๆ ดังนั้น การจัดเตรียมอุปกรณ์สำนักงานต่าง ๆ เช่น สมุดจดโน้ต ดินสอ ปากกา คลิป กระดานสำหรับจดบันทึก ฯลฯ เอาไว้ใกล้มือก็เป็นอีกหนึ่งข้อที่ควรระลึกถึง เพราะคงไม่ดีแน่ หากคุณจะต้องเดินไปทั่วบ้านเพื่อหากระดาษโน้ตสักแผ่น นอกจากนั้น หากมีเครื่องมือในการวางแผน บันทึกช่วยจำ ตลอดจนแผนผังการส่งงาน แปะไว้ที่ข้างฝา หรือวางเอาไว้ใกล้ ๆ มันก็จะช่วยให้การทำงานจากบ้านของคุณนั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

3. จัดหาเครื่องใช้สำนักงานที่เหมาะสม
ข้อนี้ต้องพิจารณาจากงานที่คุณทำว่าจำเป็นต้องใช้เครื่องใช้สำนักงาน - เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารอะไรบ้าง เช่น เครื่องสแกนเนอร์ พรินเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องแฟกซ์ โทรศัพท์ (หากคุณต้องใช้เครื่องมือดังที่กล่าวมาในการทำงาน ลองมองหาแบบ All-in-one ซึ่งปัจจุบันมีมากมายหลายยี่ห้อ ก็จะช่วยให้ประหยัดพื้นที่ทำงานได้มากกว่า) หรือหากจำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตคุณภาพสูงก็ติดตั้งอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์เสีย จะได้ช่วยลดเวลาในการเข้าถึงข้อมูลบนโลกไซเบอร์ลง

4. กำหนดช่วงเวลาทำงาน

การกำหนดช่วงเวลาทำงานที่ชัดเจน เช่น 9.00 - 12.00 น. และ 13.00 - 15.00 น. ช่วยให้คุณไม่เอ้อระเหย แอบนอนหลับ และมีเวลามากพอจะไปจัดการกับงานบ้านอื่น ๆ หรือไปรับส่งลูกที่โรงเรียนได้อีกด้วย ซึ่งคุณสามารถใช้ช่วงเวลาที่กำหนดไว้จัดการทำงานของคุณให้เสร็จเรียบร้อย โดยไม่ปล่อยให้มีอะไรมาขัดขวาง

อย่างไรก็ดี การกำหนดช่วงเวลาการทำงานนั้นอาจต้องคำนึงถึงรูปแบบของธุรกิจที่คุณทำด้วย หากเป็นงานออฟฟิศที่ต้องมีเวลาเข้างานชัดเจน เช่น เข้างานตอน 8.00 - 17.00 น. และในช่วงเวลานั้นก็ต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานรายอื่น ๆ คุณก็คงหนีไม่พ้น ต้องออนไลน์ทำงานตามระบบของธุรกิจ แต่ถ้าหากเป็นงานที่ไม่จำเป็นต้องยึดถือกับช่วงเวลาดังกล่าว คุณก็สามารถกำหนดช่วงเวลาทำงานตามใจได้เลย

5. แต่งกายให้เหมาะสม
ข้อดีของการทำงานจากที่บ้านอีกข้อหนึ่งก็คือ พนักงานไม่ต้องเสียเวลาแต่งตัวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ไม่ถนัดเรื่องแฟชั่นและการแต่งกาย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า การทำงานที่บ้านจะอนุญาตให้คุณใส่ชุดนอน นั่งทำงานตั้งแต่เช้าถึงเย็น แต่จะดีกว่า หากคุณตื่นเช้า ไปล้างหน้าแปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัวด้วยชุดง่าย ๆ อาจเป็นกางเกงขาสั้นกับเสื้อคอกลม นั่งทานข้าวเช้ากับครอบครัว ส่งลูกไปโรงเรียน แล้วค่อยกลับมาเริ่มต้นทำงาน การได้อาบน้ำเพิ่มความสดชื่น เครื่องแต่งกายที่เหมาะสม และกิจวัตรที่ได้ทำพร้อมหน้ากันในครอบครัว เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยให้คุณอารมณ์แจ่มใส และมีพลังในการทำงานมากขึ้น

6. แยกงานออกจากงานบ้าน
ข้อนี้คงต้องบอกว่า พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะบางคนเลือกที่จะทำงานบ้านก่อน แล้วค่อยทำงานออฟฟิศที่หลัง แต่พอจะเริ่มทำงานออฟฟิศก็ถึงเวลาต้องไปรับลูกกลับบ้านแล้ว กลายเป็นว่างานออฟฟิศก็ยังไม่ได้ทำ แถมยังมีลูก ๆ กลับมากวนใจเสียอีก ดังนั้น เมื่อกำหนดเวลาทำงานแล้วก็ควรทำงานจริงจัง ไม่ควรเอาเวลาทำงานออฟฟิศไปทำความสะอาดบ้าน ทำอาหารมื้อเย็น หรือแชตกับเพื่อนจนลืมเวลา ฯลฯ แต่อย่างใด


7. ขจัดสิ่งรบกวน
ช่วงเวลาแห่งการทำงานที่ดี ไม่ควรมีสิ่งรบกวนมากนัก คุณอาจปิดทีวี ปิดเสียงโทรศัพท์ ตั้งชื่อ MSN เอาไว้ว่ากำลังทำงาน ห้ามรบกวน หรือทำสิ่งใด ๆ ก็ได้เพื่อบอกให้คนอื่น ๆ รับทราบว่า คุณกำลังใช้สมาธิ กระนั้น ก็ต้องระวังสิ่งที่อาจเป็นตัวขัดจังหวะในการทำงานมากที่สุดก็คือ "อินเทอร์เน็ต" ที่คุณอาจเผลอไปคลิกเปิดเว็บนั้นเว็บนี้เล่นตามใจ จนไม่เป็นอันทำงานเสียเอง


8. กำหนดตารางการทำงาน
การทำงานที่บ้าน แม้จะสะดวกด้านการเดินทาง แต่ก็ไม่ควรละเลยการกำหนดแผนการทำงานในแต่ละวัน คุณสามารถเริ่มต้นการทำงานด้วยการตั้งเป้าว่าวันนี้คุณจะต้องทำงานอะไรให้เสร็จบ้าง จดเอาไว้เป็นข้อ ๆ และทำเครื่องหมายกากบาทเมื่อคุณทำเสร็จ วิธีเหล่านี้จะช่วยให้คุณทราบว่าคุณบรรลุเป้าหมายของแต่ละวันหรือไม่

9. หาเวลาพักให้ตัวเองบ้าง

พนักงานบางราย เมื่อได้ทำงานแล้วก็มีสมาธิมุ่งมั่นอยู่กับงานที่ทำเสียจนลืมเวลาพัก แต่เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว ก็ควรหยุดพักเพื่อทานข้าวกลางวันบ้าง หรือหากมีเวลาเหลือพอก็อาจออกไปทานข้าวกับเพื่อนสนิทบ้าง เดินซื้อของบ้าง การได้พักผ่อนสมองก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และเป็นโอกาสที่หาไม่ค่อยได้จากการนั่งทำงานที่ออฟฟิศค่ะ

10. อย่าโดดเดี่ยวตัวเอง

ปัญหาข้อนี้มักเกิดกับผู้ที่เลือกทำงานจากบ้านเป็นส่วนใหญ่ เมื่อพวกเขาแยกออกมาทำงานส่วนของเขาตามลำพัง ไม่มีโอกาสได้เข้าออฟฟิศเพื่อพบกับเพื่อนร่วมงาน ดังนั้น ก็มักจะเกิดปัญหาว่า เขาติดขัดในเรื่องงาน อีกทั้งยังขาดปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ทำให้เมื่อพบปัญหาก็ไม่ทราบจะปรึกษาใคร ทางที่ดีคือ ไม่ควรละเลยสังคมเพื่อนฝูงในที่ทำงาน และควรมีเครื่องมือในการแชตเตรียมไว้บ้าง เผื่อไว้สำหรับปรึกษาปัญหา ตลอดจนหาไอเดียใหม่ ๆ

ปัจจุบัน แนวทางการทำงานจากที่บ้านกำลังได้รับความนิยมในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น โดยเฉพาะในองค์กรขนาดใหญ่หรือหน่วยงานภาครัฐบาลที่พัฒนานวัตกรรมขึ้นมารองรับในจุดนี้ ซึ่งข้อดีของการทำงานจากที่บ้านไม่เพียงแค่ช่วยให้พนักงานได้ใกล้ชิดกับครอบครัวมากขึ้น หากยังช่วยลดการสิ้นเปลืองพลังงาน ลดปัญหาจราจร ลดการก่อมลพิษในอากาศ และประหยัดเวลาในการเดินทางให้กับทุกชีวิตด้วย 

ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางเพื่อโลกสีเขียวที่น่าสนใจทีเดียวค่ะ

ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการ 
ข้อมูลจาก : http://www.thaihealth.or.th
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
items ต้องมี! ช่วยหนูน้อยฝึกการเข้าห้องน้ำ
items ต้องมี! ช่วยหนูน้อยฝึกการเข้าห้องน้ำ
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? เอกชน หรือรัฐบาล
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? เอกชน หรือรัฐบาล
การเลือกซื้อคาร์ซีทเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย
การเลือกซื้อคาร์ซีทเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย