ลงทะเบียนเข้างาน
Mobile number
e-mail
บทความ
แบ่งปัน
เป็นปลื้มกับ 12 เรื่อง “แรก” ของลูก
เป็นปลื้มกับ 12 เรื่อง “แรก” ของลูก ตั้งแต่แรกเกิดถึง 2 ปี มีช่วงนาทีที่ยิ่งใหญ่ ที่ลูกทำอะไรได้เป็นครั้งแรกเกิดขึ้นบ้าง โดยเฉพาะช่วงขวบปีแรกของลูก บอกได้คำเดียวว่า อย่ากะพริบตาเชียวค่ะ 

1.ยิ้มแรกของหนู
เกิดมาไม่กี่วัน เจ้าตัวเล็กก็ยิ้มทักทาย จนทำให้พ่อแม่หลงใหลได้ปลื้มและยิ้มตอบแก้มแทบปริ แต่ที่จริงยิ้มแรกของลูกน้อยไม่ได้มีสัญญาณมาจากความสุขหรือว่าจำได้หรอกค่ะ รอยยิ้มนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาระบบประสาทในตัวลูก หรือกล้ามเนื้อริมฝีปากกระตุกเท่านั้นเอง ซึ่งยิ้มแรกที่มีความหมายของลูก จะเกิดขึ้นตอนอายุประมาณ 6 สัปดาห์ เป็นยิ้มที่เกิดจากเลียนแบบสิ่งที่ได้เห็นคนอื่นทำกับเขาขณะอยู่ในเปลค่ะ

2.พลิกคว่ำครั้งแรก

นอนอยู่ในท่าที่คุณแม่จับวางไว้มาตั้งนาน 4-5 เดือน ชักเริ่มเบื่อ คุณแม่ไม่ต้องแปลกใจนะคะ ถ้าเห็นเจ้าตัวเล็กที่จับนอนหงายเอาไว้ กำลังพยายามตะแคงซ้ายตะแคงขวา และพลิกตัวนอนคว่ำได้ในที่สุด เพราะวัยนี้ลูกมีความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อลำตัวพอที่จะเคลื่อนไหวอย่างอิสระ และอยากจะเคลื่อนไหวร่างกายด้วยตัวเองบ้างแล้ว

3.กระดื๊บ...กระดื๊บ คืบแล้ว

ช่วงเวลาเดียวกันกับที่เจ้าตัวเล็กพลิกคว่ำพลิกหงายได้สำเร็จ และกำลังพัฒนากล้ามเนื้อท้อง ลำตัว และหลังอยู่นี้ คุณแม่จะเห็นเจ้าตัวเล็กยกแขนขาเคลื่อนไหวเหมือนกำลังว่ายน้ำ และเริ่มคืบตัวไปข้างหน้าด้วย เป็นการออกกำลังกายกล้ามเนื้อหน้าท้องไปในตัว ต่อแต่นี้ไปเจ้าตัวเล็กที่เคยนอนตาแป๋วจะไม่ยอมนอนอยู่เฉยๆ อีกแล้วค่ะ 

4.หนูนั่งแล้วนะ
เป็น Surprise! ของลูกน้อยวัยประมาณ 7 เดือน เพราะกล้ามเนื้อหลัง และกล้ามเนื้อท้องของลูกแข็งแรงพอที่จะนั่งโดยไม่ต้องคอยประคอง แต่แรกๆ ที่นั่งลูกอาจจะโยกเยก หงายหน้าหงายหลังไปบ้าง เพราะยังปรับความสมดุลของร่างกายให้ทำงานสอดรับกับพัฒนาการของกล้ามเนื้อไม่ได้ แต่เขาจะค่อยๆ เรียนรู้การทรงตัว และนั่งได้อย่างมั่นใจในไม่ช้าค่ะ

5.ต้วมเตี้ยมฝึกคลาน
อายุย่างเข้าเดือนที่ 8 ลูกต้องใช้การทำงานประสานกันของมือ เข่า และเท้าเป็นตัวขับเคลื่อน ช่วงแรกลูกอาจจะคลานถอยหลัง หรือคลานเป็นวงกลมวนรอบ อดใจรออีกนิดลูกกำลังพยายามฝึกบังคับทิศทาง พอคลานได้คล่องแล้วล่ะก็คุณแม่จะได้เห็นลูกคลานสามขาโบกไม้โบกมือได้อย่างสบาย

6. เกาะยืนแล้วจ้า

เจ้าตัวเล็กอายุประมาณ 10 เดือน เรียนรู้ที่จะเกาะเตียง เก้าอี้ หรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เพื่อพยุงตัวเองให้ยืนขึ้น 

7. ตั้งไข่ล้มต้มไข่กิน
“ตั้งไข่ล้ม ต้มไข่กิน ไข่ตกดิน อดกินไข่ต้ม” แม้จะยืนได้แค่แป๊บๆ แล้วก็ล้มก้นกระแทกก็เถอะ ก็อย่าตกใจหรือกลัวว่าลูกจะเจ็บนะคะ เพราะบางทีก็ล้มจริงบางทีก็ล้มหลอก ลูกเห็นการล้มก้นกระแทกเป็นเรื่องสนุก และลองเล่นกับร่างกายตัวเองที่สามารถควบคุมได้อยู่ค่ะ

8. ก้าวแรกที่เดิน
ครบขวบปีพอดีเลย ก้าวแรกของลูกนี้แสดงให้เห็นว่ากล้ามเนื้อขาของลูกพัฒนาขึ้นมากแล้ว แรกๆ คุณแม่อาจช่วยด้วยการจับสองมือ ลดลงเหลือมือเดียว ไม่นานเจ้าตัวเล็กจะมีความมั่นใจที่จะทรงตัวเดินเอง และลูกจะเรียนรู้การถ่วงน้ำหนักและความสมดุลของร่างกายเองค่ะ

9.ป๊า...ม้า คำแรก

เจ้าตัวเล็กเริ่มทดสอบเสียงแรกของตัวเองด้วยการเล่นน้ำลาย ทำเสียงอืออา อ้อแอ้ คุยกับตัวเองมานาน แต่ยังพูดเป็นคำๆ ไม่ได้ จนอายุประมาณขวบนี่แหละค่ะ ลูกจะหลุดคำพูดแรก ซึ่งคำแรกๆ ที่ลูกจะพูดนี้มักเป็นคำพยางค์เดียวแต่มีความหมาย เช่น นม หม่ำ ฯลฯ แต่คำที่สร้างความชื่นใจให้คนเป็นพ่อแม่มากที่สุดคงหนีไม่พ้นคำว่า “พ่อ” “แม่” จริงไหมล่ะคะ

10. ตักข้าวกินเองนะ
หลังจากลูกเริ่มเดินเองได้คล่อง อายุสัก 14 เดือน เขามักจะอยากลองทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องการความช่วยเหลือจากพ่อแม่ ช่วงนี้คุณจะเห็นลูกตักข้าวกินเองได้ แต่อาจจะหกเลอะเทอะเสื้อผ้าไปสักหน่อย ก็อย่าแสดงทีท่ารังเกียจความสกปรกนั้น เพราะอาจจะกลายเป็นการปิดกั้นการเรียนรู้ของลูกไป 

11.กระโดดสองขา
การกระโดดเป็นทักษะที่คนเป็นแม่รู้สึกตื่นเต้นเมื่อเห็นลูกทำได้ เพราะเจ้าตัวเล็กวัยขวบครึ่งที่เดิน วิ่ง และปีนป่ายได้คล่อง จะเริ่มไม่อยู่นิ่ง เริ่มฝึกกระโดดตัวลอย 2 ขาไม่ติดพื้น เป็นสัญญาณบอกว่า กล้ามเนื้อใหญ่ ส่วนแขน ขา และลำตัวของลูกพัฒนามากขึ้น 

12.ใส่และถอดเสื้อผ้า
เจ้าตัวเล็กวัย 1 ปี 8 เดือนจะรู้จักรูดซิปเป็น ดึงถุงเท้าออกเป็น สวมรองเท้าได้ถูกข้างมากขึ้น และเริ่มจะสวมถอดเสื้อและกางเกงแบบที่สวมง่ายๆ ได้ เพราะเป็นวัยที่ควบคุมการทำงานส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดีขึ้นมาก และจะทำได้คล่องเมื่ออายุประมาณ 2 ปีครึ่งถึง 3 ปีค่ะ 

มีช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นเกิดขึ้นกับลูกน้อยมากมาย อย่าลืมเตรียมรับมืออย่างมีความสุขกับลูกให้ดีนะคะ
ข้อมูลจาก : http://www.vcharkarn.com/varticle/38205
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
items ต้องมี! ช่วยหนูน้อยฝึกการเข้าห้องน้ำ
items ต้องมี! ช่วยหนูน้อยฝึกการเข้าห้องน้ำ
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? เอกชน หรือรัฐบาล
ฝากครรภ์ที่ไหนดี ? เอกชน หรือรัฐบาล
การเลือกซื้อคาร์ซีทเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย
การเลือกซื้อคาร์ซีทเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย